“ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เฉียบพลัน ” รักษาไม่ทัน อาจถึงตาย - Vejthani

บทความสุขภาพ

“โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน” รักษาไม่ทัน อาจถึงตาย

Share:

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน เนื่องจากมีไขมันสะสมบริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรืออาจทำให้ “หัวใจวาย” หากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

สาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือด ส่วนมากเป็นผลมาจากความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี หรือวัยหมดประจำเดือน รวมถึงปัจจัยอื่นที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน การสูบุหรี่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย และโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง ทำให้ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ

อาการสำคัญของภาวะหัวใจขาดเลือดคือ เจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะในขณะออกแรงแต่พอพักแล้วอาการจะดีขึ้น เจ็บลึก ๆ บริเวณกลางหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ใจสั่น เป็นต้น

วิธีสังเกตอาการผิดปกติจนอาจเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

  1. อาการเจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก ถือว่าเป็นอาการนำที่พบบ่อยที่สุด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการนี้ โดยส่วนมากมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หรือบริเวณตรงกลางหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับ อาจมีปวดร้าวไปที่คอ ขากรรไกร ไหล่หรือแขนด้านซ้าย อาการเจ็บหน้าอกเป็นมากและรุนแรง มักเป็นนานติดต่อกันมากกว่า 20 – 30 นาที นั่งพักไม่ดีขึ้น
  2. เหงื่อออก ใจสั่น หน้ามืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ในบางรายมีอาการหายใจหอบเหนื่อยจนถึงหมดสติ ไม่รู้สึกตัว โดยผู้ป่วยอาจไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกนำมาก่อนก็ได้

ทั้งหมดนี้ถือว่า เป็นสัญญาณวิกฤตของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์ หรือเรียกรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลทันที

3 วิธีรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  1. ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะฉีดยาที่มีฤทธิ์ในการละลายเลือดที่แข็งตัว เพื่อสลายลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ที่เส้นเลือดแดงหัวใจ
  2. ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน เป็นวิธีที่ได้ผลการรักษาดีกว่าการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัด พักฟื้นไม่นาน แต่ต้องทำในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม มีห้องฉีดสีสวนหัวใจและทีมแพทย์เฉพาะทาง
  3. ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ส่วนมากทำในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันหลายเส้น และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการรักษาทุกขั้นตอนควรทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 – 90 นาที เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย หรือภาวะหัวใจวายเรื้อรัง และกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

  • Readers Rating
  • Rated 4.7 stars
    4.7 / 5 (6 )
  • Your Rating