โรคฝีคัณฑสูตร ฟังดูอาจไม่คุ้นหูเท่าใดนัก แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาการของโรคค่อนข้างรุนแรง และสร้างความเจ็บปวดยิ่งนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอยู่ในช่วงวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า
นพ.ปิยะ โตเต็มโชคชัยการ ศัลยแพทย์ทั่วไป อธิบายว่า โรคฝีคัณฑสูตร คือการติดเชื้อของต่อมที่อยู่ในทวารหนัก หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า ฝีบริเวณดังกล่าว เกิดจากการติดเชื้อจากผิวหนังเข้าไปด้านในทวารหนัก แต่ความจริงแล้วเกิดจากการติดเชื้อของต่อมด้านใน เนื่องจากต่อมเหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อได้ เพราะเป็นทางผ่านของอุจจาระ ดังนั้นหากต่อมใดต่อมหนึ่งเกิดการติดเชื้อ จะทำให้เกิดฝีที่เป็นลูก ๆ ขึ้นในบริเวณข้างทวารหนัก
สำหรับการวินิจฉัยนั้น แพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยจากการตรวจร่างกายเบื้องต้น และเอ็กซเรย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าต่อมที่ติดเชื้ออยู่บริเวณใด อย่างไรก็ตามหากเป็นฝีคัณฑสูตรแล้วไม่ทำการรักษา อาจส่งผลให้การติดเชื้อลุกลามเข้าไปถึงเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ และลามเข้าไปยังอวัยวะภายในส่วนอื่นได้
อาการของโรคฝีคัณฑสูตร
- ปวด บวมบริเวณแก้มก้น หรือบริเวณขอบรูทวารหนัก
- เจ็บปวดขณะขับถ่าย
- มีน้ำเหลืองซึมออกมาจากรูที่ผิวหนัง
- อาจมีเลือดปน หรือเป็นหนอง
- มีอาการคันรอบ ๆ รูที่ผิวหนัง
- มีการอักเสบและแดง บริเวณผิวหนังรอบ ๆ รู
- มีไข้
วิธีการรักษา
โรคฝีคัณฑสูตรไม่สามารถหายเองได้หากไม่รับการรักษา เพราะมีทางเข้าของเชื้อโรคจากด้านในรูทวารหนัก โดยแพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด หากช่องผ่านของเชื้อโรคอยู่ลึกและซับซ้อน แพทย์จะต้องผ่าตัดเลาะอุโมงค์ผ่านกล้ามเนื้อเข้าไป หรือตัดทางผ่านของเชื้อโรคจากรูด้านในให้ได้
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคฝีคัณฑสูตร
โรคฝีคัณฑสูตร สามารถป้องกันได้ หากดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทั้งจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยสูงส่งเสริมการขับถ่าย ดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการฝึกขับถ่ายเพื่อเลี่ยงอาการท้องผูก และดูแลสุขอนามัยหลังการขับถ่ายอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่มีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัว จะต้องควรคุมเบาหวานให้ดี
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating