ซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะ ระวังผลเสียมากกว่าผลดี

บทความสุขภาพ

ซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะ ระวังผลเสียมากกว่าผลดี

Share:

Over The Counter Drugs หรือ OTC Drugs คือ ยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ สามารถซื้อขายได้จากร้านค้า หรือร้านขายยาทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาของแพทย์ เช่น ยาแก้ปวดท้อง พาราเซตามอล และคลอร์เฟนิรามีน เป็นต้น ยาดังกล่าวช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น แต่หากอาการของโรคไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยากลุ่มดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญคือตัวผู้ป่วยเองควรต้องไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หรือหากจำเป็นต้องซื้อยารับประทานเอง ควรไปที่ร้านยาที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา

ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะคนกรุง จำนวน 72% นิยมซื้อยารับประทานเองในยามเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าการไปพบแพทย์ และบางกรณีมีการระบุชื่อยาที่ต้องการด้วยตนเอง อาจเพราะเคยได้รับยาตัวดังกล่าวมาจากโรงพยาบาล รับประทานแล้วรู้สึกดีขึ้น เมื่อหมดจึงซื้อรับประทานต่อเอง อีกกลุ่มหนึ่งคือได้รับคำแนะนำจากบุคคลอื่น ว่ายาตัวนี้ดีรับประทานแล้วหาย โดยผู้แนะนำมักไม่ใช่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งบางครั้งการซื้อยาจากร้านที่ไม่มีเภสัชกรประจำการ อาจได้รับยาเม็ดหลากสี ให้รับประทานพร้อม ๆ กัน หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “ยาชุด” ซึ่งอาจมียาที่ไม่จำเป็นในการรักษา เป็นยาที่เราเคยแพ้ หรือมีข้อห้ามในการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ เช่น มีโรคประจำตัวเป็นโรคไต ความดัน เบาหวาน ให้นมบุตร หรือตั้งครรภ์ เป็นต้น หากได้รับยาดังกล่าว อาจส่งผลต่อตนเองหรือทารกในครรภ์ได้ ปัญหาสำคัญอีกประการจากการซื้อยารับประทานเอง คือ การดื้อยาของเชื้อโรคบางชนิด ที่ส่งผลให้แพทย์ต้องสั่งยาที่แรงขึ้น หรือเชื้อโรคบางชนิดยาต้านจุลชีพเอาไม่อยู่

องค์การเภสัชกรรม เตือนผู้ที่นิยมซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง และรับประทานบ่อยเกินความจำเป็น อาจเสี่ยงต่อการดื้อยาสูงและแพ้ยาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มยาปฏิชีวนะเข้าสู่ร่างกายโดยเปล่าประโยชน์ โรคที่เป็นอยู่ก็ไม่หาย โดยองค์การเภสัชกรรมแนะนำว่า ต้องกินยาอย่างถูกวิธี ต่อเนื่องจนครบ ซึ้อยาจากร้านที่มีเภสัชกรประจำร้านดูแล สามารถให้คำแนะนำการใช้ยา และที่สำคัญที่สุดคือการมาพบแพทย์ในสถานพยาบาล เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

ผลเสียจากใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น

  • เชื้อแบคทีเรีย จะปรับตัวให้ทนต่อยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้เชื้อดื้อยา
  • เกิดการทำลายเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ผื่นคัน หรือลมพิษ เป็นต้น
  • อาจทำให้ฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ หรือยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่เพิ่มขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงที่มากขึ้น หรือลดลง จนไม่ได้ผลในการรักษา

ผลเสียจากการเลือกซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง

  • สูญเสียความสามารถในการรักษาโรค เพราะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะไม่ตรงกับโรคที่เป็น
  • ก่อให้เกิดพิษหรือแพ้ยาปฏิชีวนะ บางรายอาจถึงขั้นรุนแรง ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และอาจเสียชีวิตได้
  • เสียค่าใช้จ่ายในการซื้อยา และไม่ได้รับประสิทธิผลของยาที่ใช้ในการรักษา
  • เป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยา ซึ่งต่อไปเมื่อเกิดการติดเชื้อ ที่ต้องการการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ มักจะรุนแรงขึ้น รักษาได้ยากขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงขึ้น

โรคบางชนิดที่ไม่จำเป็นต้องเริ่มรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

  • ไข้หวัด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีอาการน้ำมูกไหล ไอ เสียงแหบ เจ็บคอ มีไข้ โรคนี้จะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้ามีอาการเจ็บคอ มีหนองที่ต่อมทอนซิล ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโตและกดเจ็บ หรืออาการแย่ลง ต้องไปพบแพทย์
  • ท้องเสีย เกือบทั้งหมดมักเกิดจากเชื้อไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ อาจคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย รักษาโดยดื่มน้ำเกลือแร่ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากมีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปน ต้องไปพบแพทย์
  • บาดแผลเลือดออก เช่น แผลมีดบาด แผลถลอก บาดแผลเล็กน้อยจากอุบัติเหตุ ควรล้างทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่กรณีที่เป็นแผลที่เท้า ตะปูตำ แมลงสัตว์กัดต่อย หรือโดนสิ่งสกปรก เช่น มูลสัตว์ หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ต้องไปพบแพทย์

ทั้งนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรืออย่างน้อยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ เพราะนอกจากอันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะอีกหลายประการ เช่น การมีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคตับ หรือโรคไต จำเป็นต้องเลี่ยงการใช้ยาบางประเภท หรืออาจต้องปรับขนาดยาให้เหมาะสมตามอายุของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ต้องคำนวณปริมาณยาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติแพ้ยาบางชนิด การแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบว่าตนเองแพ้ยาชนิดใด จะปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยอย่างสุดสูง

  • Readers Rating
  • Rated 4.3 stars
    4.3 / 5 (6 )
  • Your Rating




บทความที่เกี่ยวข้อง