ชีวิต “กินด่วน กินไม่อั้น” ของคนในยุคปัจจุบัน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้หลายโรคก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ โดยกลุ่มโรคที่เด่นชัดคือโรคระบบทางเดินอาหาร และภาวะที่พบบ่อยคืออาการ “ท้องอืด” ที่ดูเหมือนเป็นอาการธรรมดาทั่วไป แต่หากเป็นบ่อย เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะ “ท้องอืดเรื้อรัง” ได้
ภาวะท้องอืด เกิดจากมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่มากเกินไป ทำให้รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง เรอ ผายลม หรือท้องโต เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมการรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป เร่งรีบ บดเคี้ยวไม่ละเอียด ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะท้องอืดได้ สำหรับสาเหตุหลักของภาวะท้องอืดเรื้อรัง เกิดจาก 3 ภาวะ ได้แก่
- ขาดเอนไซม์ย่อยนม แพ้สารอาหารประเภทนม
- มีแบคทีเรียในลำไส้มากเกิน
- ลำไส้แปรปรวน
โดยความแตกต่างระหว่างอาการ ท้องอืดทั่วไป กับ ท้องอืดเรื้อรัง คือระยะเวลา ซึ่งหากเป็นมานานหลายปี แม้ว่าจะรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ ยาช่วยย่อยอาหาร ตลอดจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ จึงจัดอยู่ในกลุ่มภาวะท้องอืดเรื้อรัง
การวินิจฉัย
ปัจจุบันสามารถตรวจหาสาเหตุของอาการท้องอืดได้ด้วยเครื่องตรวจลมหายใจ Hydrogen Breath Test ที่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน โดยอาศัยหลักการตรวจหาก๊าซที่ผลิตจากแบคทีเรียในทางเดินอาหาร ซึ่งจะซึมผ่านเข้ากระแสเลือดและปล่อยออกทางลมหายใจ โดยก๊าซที่ตรวจนั้น ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซมีเทน เมื่อได้รับการวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แน่ชัดแล้ว ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตามมา
การรักษา
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะท้องอืด เช่น กรณีที่แพ้สารอาหารประเภทนม ให้เลี่ยงรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย โยเกิร์ต ไอศกรีม เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีแบคทีเรียในลำไส้มาก สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อปรับลดปริมาณเชื้อในลำไส้ หากเกิดจากลำไส้แปรปรวน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความเครียด ให้หากิจกรรมผ่อนคลาย และออกกำลังกาย เป็นต้น
ทำอย่างไรห่างไกลท้องอืด
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะท้องอืด หรือ ท้องอืดเรื้อรัง พยายามปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป เคี้ยวให้ละเอียด อย่าเร่งรีบจนเกินไป หลังรับประทานอาหารเสร็จ ไม่ควรนั่งหรือนอนเฉย ๆ อาจจะเดินย่อยอาหารสักเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม อาการท้องอืดเรื้อรัง ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง แต่สร้างความอึดอัดทรมาน และอาจส่งผลให้เกิดกลิ่นปาก หรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ทางลมหายใจได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 2966
- Readers Rating
- Rated 3.4 stars
3.4 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating