ไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่ปวดสะโพกโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณกระดูกหัวสะโพก ทำให้เซลล์กระดูกหัวสะโพกตาย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ โดยนายแพทย์เปรมเสถียร ศิริธนาพิพัฒน์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพก กล่าวว่า กระดูกสะโพกสามารถขยับได้ทุกทิศทางและเป็นตัวถ่ายแรงทั้งหมดจากขาเข้าสู่ตำแหน่งกระดูกสันหลัง หากถ่ายแรงมากเกินไป หัวกระดูกสะโพกและเบ้ามีโอกาสเสื่อมเร็วกว่าปกติได้
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กระดูกหัวสะโพกตายมีดังนี้
1. โรคเลือดบางชนิด
2. เคยประสบอุบัติเหตุจนทำให้เส้นเลือดที่เลี้ยงกระดูกหัวสะโพกเสียสภาพ
3. ผู้ที่รับประทานยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะสเตียรอยด์
ผู้เข้าข่ายกระดูกหัวสะโพกตาย มักมีอาการเจ็บในอิริยาบทต่าง ๆ อาทิ การเดิน ออกกำลังกาย การนั่ง รวมไปถึงการพลิกตัวขณะนอนหลับ เป็นต้น การตรวจวินิจฉัยของแพทย์จะเริ่มจากซักประวัติผู้ป่วย เช่น โรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ และประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ต่อด้วยการตรวจร่างกาย และเอกซเรย์
การรักษากระดูกหัวสะโพกตาย
หากเป็นระยะเริ่มต้น กระดูกด้านในจะเริ่มเป็นโพรง ผุ กร่อน สามารถตรวจพบได้จากการทำ MRI Scan โดยแพทย์จะให้ลดน้ำหนักหรือใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรง อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมบางส่วนหรือทั้งหมด
สัญญาณเตือนที่ต้องรีบมาพบแพทย์
- ปวดสะโพกโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการเจ็บกับอิริยาบทต่าง ๆ ทั้ง เดิน วิ่ง ขยับ
- รู้สึกขัด ขยับตัวลำบาก
วิธีลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวสะโพกตาย
- ระมัดระวังในการใช้ชีวิต และการเดินทาง เพราะอุบัติเหตุคือสาเหตุอันดับต้น ๆ
- ระมัดระวังการใช้ยา โดยเฉพาะกลุ่มยาสเตียรอยด์
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด โรค SLE รูมาตอยด์ ต้องดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม
หากมีอาการปวดสะโพกไม่ทราบสาเหตุ หรืออาการอื่น ๆ ที่เข้าข่ายกับโรคดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะปัจจุบันสามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกได้ โดยข้อสะโพกสมัยใหม่มีอายุการใช้งานนานกว่าแบบเก่ามาก ซึ่งเทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบันจะช่วยให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติได้เร็วขึ้น
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating