โรคที่ไม่ควรวางใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพราะส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus) ซึ่งเป็น RNA Virus ตระกูล Reoviridae เมื่อเชื้อเข้าสู่ลำไส้เล็ก จะก่อให้เกิดการอักเสบของผนังลำไส้เล็ก ทำให้การดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง การสร้างเอนไซม์สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตถูกทำลาย เด็กที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการท้องร่วง ถ่ายอุจจาระเหลวติดต่อกันหลายวัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะขาดน้ำ และรุนแรงถึงขั้นช็อคได้
การแพร่ระบาด
มักระบาดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และมักเกิดในฤดูหนาว โดยเชื้อไวรัสโรตาจะปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย การติดต่อเกิดจากรับประทานสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัส หรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมไปถึงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง และสัมผัสข้าวของเครื่องใช้
ทั้งนี้ เชื้อโรตามีระยะฟักตัว 1-7 วัน แต่ส่วนใหญ่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง และจะอยู่ในตัวผู้ป่วยได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนมีอาการ จนถึงประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ โดยเมื่อเชื้อออกจากร่างกายและไปติดตามสิ่งของต่าง ๆ จะคงทนอยู่ได้นานหลายเดือน หากไม่ความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
อาการแสดงของโรคอุจจาระร่วงอันเกิดจากไวรัสโรตา
- มีไข้ ไอ หรือมีน้ำมูกเล็กน้อย ในช่วง 1-2 วันแรก
- อาเจียนหลายครั้ง มีอาการท้องอืด
- ท้องร่วงถ่ายเป็นน้ำโดยไม่มีมูกเลือดปน หลายครั้งต่อวัน และมักมีก้นแดง
- อาการท้องร่วงนาน 5-7 วัน
หากเข้าข่ายอาการของโรคอุจจาระร่วงอันเกิดจากไวรัสโรตา แพทย์จะตรวจอุจจาระหาแอนติเจน โดยวิธี ELISA หรือ Latex Agglutinin เป็นต้น เพื่อยืนยันโรค
การรักษา
- ป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำ: การให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทน เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในผู้ป่วยอุจจาระร่วง โดยสามารถเริ่มจิบสารน้ำและเกลือแร่ทางปากได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ การใช้ช้อนตักป้อนปากดีกว่าใช้ขวดดูด เนื่องจากเด็กที่มีความกระหายน้ำจะดูดน้ำอย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับน้ำปริมาณมากอย่างรวดเร็ว อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และลำไส้ดูดซึมน้ำไม่ทัน ทำให้มีอาการถ่ายเหลวมากขึ้น ในระหว่างนี้ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเด็กยังอาเจียนหรือถ่ายเหลวมาก อาจมีความจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด
- การให้อาหาร: ให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น อาหารจำพวกแป้ง ซึ่งย่อยได้ดีและดูดซึมได้ง่ายกว่าอาหารประเภทอื่น ในเด็กที่กินนมแม่แนะนำให้นมแม่มากขึ้น ในเด็กที่กินนมผสม ควรให้นมที่มีแลคโตสต่ำ หรือไม่มีเลย
- การให้ยา: การให้ธาตุสังกะสี ยากลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Enkephalinase หรือการให้ Probiotics อาจช่วยให้อาการดีขึ้น
เพื่อป้องกันลูกน้อยจากไวรัสโรตา ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาด เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ล้างมือทุกครั้งหลังการขับถ่าย นอกจากนี้ ยังมีวัคซีน Rotarix และ Rotateq ช่วยให้ไวรัสโรตาอ่อนฤทธิ์ลง และลดความรุนแรงของการติดเชื้อ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 3310
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating