สังเกตอาการบ่งชี้ "เด็กออทิสติก" รู้เร็วฝึกพัฒนาการไว ใช้ชีวิตในสังคมได้ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

สังเกตอาการบ่งชี้ “เด็กออทิสติก” รู้เร็วฝึกพัฒนาการไว ใช้ชีวิตในสังคมได้

Share:

ภาวะออทิสซึม สเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในเด็ก เนื่องจากความผิดปกติของสมอง โดยสมองที่ผิดปกติทำให้เด็กแสดงความบกพร่องออกมา 3 ด้าน ได้แก่ ความบกพร่องด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความบกพร่องในการสื่อสาร และการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ผิดปกติ

เด็กมักแสดงอาการให้เห็นชัดในช่วงอายุ 3 ปีแรก สำหรับความรุนแรงของภาวะนี้ มีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ มีเพียงบุคลิก หรือการพูดจาแปลก ๆ ร่วมกับมีปัญหาการเรียน ไปจนถึงรุนแรงมาก เช่น มีพฤติกรรมผิดปกติชัดเจน ทำอะไรซ้ำ ๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าว และอาจถึงขั้นทำร้ายตนเอง ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรม ฝึกพัฒนาการ และดูแลใกล้ชิดโดยตลอด

สังเกตอาการลูกน้อยสงสัยภาวะออทิสติก (อายุตั้งแต่ 2 ขวบ)

  • เรียกชื่อไม่หัน
  • ไม่มองหน้าสบตา
  • ไม่รู้จักการแสดงออกทางสังคม เช่น ไหว้ โบกมือ
  • ไม่แสดงความรู้สึกทางสีหน้าท่าทาง เช่น กลัว ดีใจ เสียใจ
  • ไม่ชอบเข้าหาผู้อื่น ไม่สนใจพูดคุยกับผู้อื่น
  • ไม่ชี้ไปยังสิ่งที่ต้องการ หรือ ไม่เรียกชื่อสิ่งที่ต้องการ
  • ไม่สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
  • พูดด้วยสำเนียงแปลก ๆ
  • ชอบพูดทวนประโยคที่เคยได้ยินมา
  • เล่นสมมติไม่เป็น เช่น ป้อนตุ๊กตา ขับรถ ขายของ
  • ต้องมีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้
  • มีท่าทางที่ชอบทำซ้ำ ๆ เช่น สะบัดมือ สะบัดนิ้ว โยกตัว

Little-Blue-Window-Treating

สาเหตุของการเกิดโรค

ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ทั้งเรื่องของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ทำให้สมองผิดปกติทั้งโครงสร้างของการทำงาน โดยความผิดปกติส่วนใหญ่ เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวอ่อนอยู่ในครรภ์ของแม่ เด็กบางคนแสดงให้เห็นอาการตั้งแต่แรกเกิด แต่บางคนอาจมีพัฒนาการในระยะแรกไม่ต่างจากเด็กทั่วไป จากนั้นอาการแสดงจึงค่อยปรากฎมากขึ้น

การช่วยเหลือ

หากสังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีพฤติกรรมผิดปกติข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะแม้ว่าภาวะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ให้ใกล้เคียงปกติและใช้ชีวิตในสังคมได้ การรักษาจะเน้นการปรับพฤติกรรมและฝึกพัฒนาการ เช่น ส่งเสริมพัฒนาการโดยการทำกิจกรรมบำบัด หรือการฝึกพูด ซึ่งพ่อแม่ควรร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา นักแก้ไขการพูด หรือนักวิชาชีพอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึง ฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเอง ฝึกทักษะการเข้าสังคม แก้ไขพฤติกรรมซ้ำ ๆ และปรับการเลี้ยงดู อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงทำร้ายตนเอง หรือมีภาวะชักร่วมด้วย แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาร่วมด้วย

  • Readers Rating
  • Rated 3.6 stars
    3.6 / 5 (21 )
  • Your Rating