‘โรคต้อกระจก’ ภาวะแห่งวัย ด่วนดูแลและแก้ไขก่อนสูญเสียการมองเห็น - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

‘โรคต้อกระจก’ ภาวะแห่งวัย ด่วนดูแลและแก้ไขก่อนสูญเสียการมองเห็น

Share:

“ดวงตา” เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญและซับซ้อนที่สุดของร่างกาย มีหน้าที่ช่วยรับภาพ รับแสง และทำงานร่วมกับระบบประสาทส่วนท้ายทอยทำให้เกิดการมองเห็น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่มีความสำคัญต่อมนุษย์เราเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาของการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นอาการพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ มองเห็นภาพซ้อน ค่าสายตาเปลี่ยน อาจเป็นภาวะของ “โรคต้อกระจก” เราจึงควรให้ความสำคัญกับดวงตา และรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

eye-768x512

สาเหตุของโรคต้อกระจก

โดยทั่วไปแล้วโรคต้อกระจก เกิดจากความเสื่อมและขุ่นตัวของเลนส์แก้วตาตามอายุ ส่วนใหญ่มักพบในผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่บางรายอาจพบได้เร็วกว่านั้น สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคต้อกระจก มีดังนี้

  • ความเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามอายุ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด
  • โรคภายในลูกตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ ได้รับอุบัติเหตุทางตา
  • ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น ยาหยอดตา ยาพ่น ยารับประทาน หรือยาฉีด
  • สภาวะแวดล้อมและการดำรงชีวิต เช่น การใช้สายตากลางแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน

การรักษาโรคต้อกระจก

ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้มีเครื่องมือสลายเลนส์ต้อกระจก และสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery) ซึ่งขนาดแผลที่เล็กลงนี้มีข้อดีหลายประการ อาทิ ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน มีความปลอดภัยสูง โดยหลังจากแพทย์ทำการสลายเลนส์ต้อกระจกแล้ว แพทย์จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมให้กับผู้ป่วยโดยเลือกเลนส์ที่เหมาะสมกับสายตา เลนส์แก้วตาเทียม แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

  1.  เลนส์เทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว (Monofocal IOL) เลนส์ชนิดนี้จะช่วยให้มองไกลคมชัด แต่เวลามองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ จะต้องอาศัยแว่นสายตาช่วย
  2. เลนส์เทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ (Multifocal IOL) ช่วยให้สามารถมองไกลและใกล้ได้

สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาเอียงค่อนข้างเยอะจะมีเลนส์ชนิดพิเศษ คือ เลนส์สายตาเอียง (Toric IOL) ทั้งแบบโฟกัสระยะเดียว และแบบโฟกัสได้หลายระยะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การมองเห็นของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น

การดูแลตนเองหลังผ่าตัด

หลังจากรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว แผลที่กระจกตาจะหายได้ดีและแข็งแรงภายใน 1 เดือน ดังนั้น ภายใน 1 เดือนแรกผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำ ฝุ่น ควัน เข้าดวงตา โดยควรสวมใส่แว่นตากันแดดป้องกัน และปิดที่ครอบตาก่อนนอนเพื่อป้องกันการขยี้ตา นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการก้มหน้า การยกของหนัก และการแบ่งแรงที่เพิ่มความดันแก่ลูกตา นอกจากนี้ ให้หมั่นหยอดตา เช็ตตา และดูแลรอบดวงตาตามที่แพทย์แนะนำ

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (3 )
  • Your Rating