สภาพอากาศในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ เราจึงควรรู้วิธีป้องกันและแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง
ไข้หวัดแบ่งได้ 2 ประเภท
- ไข้หวัดธรรมดา เกิดจากเชื้อไวรัสทางเดินหายใจได้หลายชนิด อาการมักไม่รุนแรงมาก มีไข้ต่ำ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก โดยอาการเหล่านี้ สามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
- ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Influenza มีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ลักษณะอาการมีไข้ขึ้นสูง อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และในบางรายมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
เมื่อเด็กเริ่มมีไข้ อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นกว่าปกติ แต่ทว่าเด็กบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ หงุดหงิด งอแงง่ายกว่าปกติ
วิธีการดูแลเบื้องต้นเมื่อมีไข้ คือ การให้รับประทานยาลดไข้ และเช็ดตัว ยาที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ พาราเซตามอล (Paracetamol) เพราะมีความปลอดภัยสูง และผลข้างเคียงน้อย ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และยาอีกชนิดหนึ่งคือ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ก็สามารถบรรเทาอาการลดไข้ได้ดี แต่มีผลข้างเคียงมากกว่า อาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ ต้านการทำงานของเกล็ดเลือด และการทำงานของระบบไตลดลง ดังนั้น จึงควรระมัดระวังและไม่ควรใช้ยาตัวนี้ ในเด็กที่มีอาการเสี่ยงไข้เลือดออก
อย่างไรก็ดี หากเด็กมีไข้ร่วมกับอาการฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น อาการชัก อ่อนเพลียมาก ซึม หายใจหอบ ไม่สามารถดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว ปัสสาวะน้อย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที หากแพทย์เห็นสมควรให้รักษาด้วยยาต้านไวรัส หรือยาปฏิชีวนะ ควรให้เด็กได้รับยาจนครบตามกำหนด และหมั่นสังเกตอาการ ถ้าอาการทรุดลงควรมาพบแพทย์ก่อนวันนัดติดตามอาการ
แนวทางป้องกันโรคสำหรับเด็ก
ควรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของเด็กตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป และปลูกฝังการล้างมือเป็นประจำ รับประทานอาหารที่สะอาด สดใหม่ มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามที่แพทย์แนะนำ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม
โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 3310
- Readers Rating
- Rated 4.5 stars
4.5 / 5 (Reviewers) - Outstanding
- Your Rating