ภาวะนอนกรนในเด็ก อันตรายกว่าที่คิด ตรวจ “SLEEP TEST”

บทความสุขภาพ

ภาวะนอนกรนในเด็ก อันตรายกว่าที่คิด ตรวจ “SLEEP TEST” ก่อนหยุดหายใจขณะหลับ

Share:

ภาวะนอนกรนในเด็ก ดูเหมือนเป็นปัญหาเล็ก ๆ แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นอันตรายได้ หากเกิดร่วมกับภาวะหายใจแผ่ว หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับเนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น และเมื่อออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หายใจไม่สะดวก เด็กจึงมักตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง ทำให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก

คุณดุจดาว รุ่งธนวงศ์ มารดาของน้องเอ็ม เด็กชายณัฐชัย รุ่งธนวงศ์ มีความกังวลใจถึงภาวะการนอนหลับของบุตรชายที่กระทบต่อชีวิตประจำวัน จึงตัดสินใจพาบุตรชายเข้ามารับการตรวจสุขภาพการนอนหลับ Polysomnography หรือ Sleep Test ที่โรงพยาบาลเวชธานี เพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขที่ถูกต้อง

โดยคุณดุจดาว เล่าว่า “น้องเอ็มอายุ 10 ปี ศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 น้ำหนักตัว 85.8 กิโลกรัม มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ มักกรนและหายใจเสียงดัง นอนหลับไม่สนิท ลุกกึ่งนั่งกึ่งนอนช่วงกลางดึก แต่ง่วงนอนและงีบในช่วงเวลากลางวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งระหว่างเรียนหนังสือและขณะสอบ คุณแม่ไม่แน่ใจว่าเป็นผลมาจากน้ำหนักตัว หรือเพราะปัญหาอื่น ๆ จึงอยากทราบว่าแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร เพื่อแก้ไขและรักษาอย่างถูกวิธี”

มั่นใจกับการทำ Sleep Test

“คุณแม่ได้ศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำ Sleep Test มาแล้วเบื้องต้น เป็นการตรวจสุขภาพการนอนหลับที่ไม่มีผลกระทบใด ๆ โดยก่อนตัดสินใจคุณหมอให้ข้อมูลว่า ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายหรือผิวหนัง จึงมีความมั่นใจให้น้องเอ็มเข้ารับการทำ Sleep Test ครั้งนี้ และเชื่อว่า น้องเอ็มยังเด็ก หากทราบปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ”

เตรียมตัวเพื่อตรวจ Sleep Test

“การเตรียมตัวไม่มีอะไรพิเศษ ไม่จำเป็นต้องอดนอน คุณหมอแนะนำให้น้องเอ็มใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เพียงแค่อาบน้ำสระผมให้สะอาดก่อนเข้ารับการทำ Sleep Test  เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์ตามจุดต่าง ๆ ในช่วงเย็นก่อนเข้านอน”

นายแพทย์จุฬา คูอนันต์กุล กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงการตรวจสุขภาพการนอนหลับ Polysomnography หรือ Sleep Test ว่า

“การตรวจสุขภาพการนอนหลับ ถือเป็นอีกการตรวจสำคัญเพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายขณะนอนหลับ อาทิ ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ กล้ามเนื้อ และศึกษาพฤติกรรมบางอย่างขณะนอนหลับ สำหรับประกอบการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น การกระตุกของกล้ามเนื้อ และพฤติกรรมผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ เป็นต้น”

ความแตกต่างระหว่างการทำ Sleep Test ในเด็กและผู้ใหญ่

“โดยทั่วไปแล้วการตรวจและอุปกรณ์ที่ใช้กับเด็กและผู้ใหญ่ไม่ต่างกัน แต่ลักษณะการหายใจของเด็กและผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกัน การตรวจสุขภาพการนอนหลับในเด็ก จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กโดยเฉพาะในการตรวจ”

ขั้นตอนตรวจสุขภาพการนอนหลับ

“ผู้ปกครองและเด็ก ต้องมาพบแพทย์ก่อน 1 ครั้ง เพื่อวินิจฉัยระดับอาการ และตรวจว่ามีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ภูมิแพ้ หรือภาวะน้ำหนักตัวเกิน พร้อมทั้งประเมินภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการนอนกรนด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เมื่อแพทย์วินิจฉัยเห็นสมควรแล้ว จึงส่งตัวคนไข้เข้ารับการตรวจ Sleep Test ต่อไป”

“สำหรับการตรวจ Sleep Test นั้น จะเริ่มติดอุปกรณ์และเครื่องมือในช่วงหัวค่ำ และเริ่มตรวจจับคลื่นสัญญาณต่าง ๆ ในช่วงเวลากลางคืนขณะที่เด็กนอนหลับ โดยแพทย์จะจำลองให้ลักษณะการนอนหลับของเด็ก มีความใกล้เคียงกับลักษณะการนอนหลับปกติมากที่สุด หลังจากนั้นแพทย์จะถอดเครื่องมือในช่วงเช้า และนำอุปกรณ์ไปวิเคราะห์ค่าต่าง ๆ เพื่อนำมาประเมินผลการรักษา”

การตรวจ Sleep Test มีผลข้างเคียงหรือไม่

“กล่าวได้ว่า การทำ Sleep Test แทบไม่มีผลข้างเคียง หรือมีน้อยมาก เช่น อาจเกิดรอยแดงจากพลาสเตอร์ในบริเวณที่ติดอุปกรณ์เท่านั้น โดยรอยแดงเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลง และหายเป็นปกติตามเดิมในระยะเวลาสั้น ๆ”

ผลการตรวจ Sleep Test ของน้องเอ็ม และคำแนะนำจากแพทย์

“จากผลการตรวจ Sleep Test ของน้องเอ็ม พบว่า มีการหายใจแผ่ว และมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ราว 3-4 ครั้ง/ชั่วโมง ยังไม่จัดว่าอยู่ในระดับรุนแรงเท่าใดนัก แต่ต้องตรวจติดตามอีกระยะหนึ่ง ซึ่งสาเหตุหลักคือปัญหาน้ำหนักตัวที่มากเกินเกณฑ์ปกติ และอาการภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังพบว่าต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์โตเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องผ่าตัด”

“สำหรับแนวทางแก้ไข แพทย์แนะนำให้น้องเอ็ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว และรักษาภาวะภูมิแพ้ ซึ่งหากสาเหตุเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม ก็มีโอกาสที่จะเป็นหนักมากขึ้น และส่งผลกระทบอื่น ๆ ต่อสุขภาพ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง และกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) หรือกลุ่มอาการอ้วนลงพุงนั่นเอง”

ผู้เข้ารับการตรวจ Sleep Test เกี่ยวกับภาวะกรนในเด็ก

ด้าน น้องเอ็ม เด็กชายณัฐชัย รุ่งธนวงศ์ ผู้เข้ารับการตรวจ Sleep Test เผยความรู้สึกหลังตรวจสุขภาพการนอนหลับ ว่า

 “ผมนอนหลับสบายไม่รู้สึกเจ็บอะไรครับ หลังจากทราบผลตรวจแล้ว คุณหมอแจ้งว่าปัญหาหลักคือน้ำหนักตัว จึงแนะนำให้ผมควบคุมปริมาณอาหาร และออกกำลังหาย โดยผมก็จะตั้งใจควบคุมน้ำหนักต่อไปครับ เป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ”

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 331

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (6 )
  • Your Rating