รู้วิธีช่วยชีวิตฉุกเฉิน กับเครื่อง AED เพราะทุกนาทีมีค่า - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

รู้วิธีช่วยชีวิตฉุกเฉิน กับเครื่อง AED เพราะทุกนาทีมีค่า

Share:

สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยชีวิตฉุกเฉิน และติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ (Automated External Defibrillator : AED) ตามพื้นที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ส่วนราชการ รถไฟฟ้าใต้ดิน ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสีย และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วย

และเพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จึงได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการแจ้งเหตุเพื่อขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 การช่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐาน รวมถึงการใช้เครื่อง AED ระหว่างที่ทีมกู้ชีพ หรือรถพยาบาลยังเดินทางไปไม่ถึง โดยมีขั้นตอนและวิธีดังนี้

  1. เมื่อพบคนหมดสติควรตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเข้าช่วยเหลือเสมอ
  2. ปลุกเรียกด้วยเสียงดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง พร้อมจัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง
  3. เรียกขอความช่วยเหลือ หรือโทรแจ้ง 1669 พร้อมนำเครื่อง AED มาเตรียมไว้ (กรณีที่มีเครื่อง)
  4. ประเมินผู้หมดสติ หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้กดหน้าอกทันที
  5. เริ่มทำการช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR (Cardiopulmonary Resuscitation)
  • จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย โดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ด้านข้างของผู้ป่วย
  • วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก
  • วางมืออีกข้างหนึ่งทับประสานกันไว้ แขนสองข้างเหยียดตรง แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย
  • เริ่มกดหน้าอก CPR ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราความเร็ว 100-120 ครั้ง/นาที
  • ถ้ามีหน้ากากเป่าปาก ให้เป่า 2 ครั้ง สลับกับการกดหน้าอก 30 ครั้ง
  • ถ้าไม่มี หรือ ไม่เคยฝึกเป่าปาก ให้ทำการกดหน้าอกอย่างเดียว ต่อเนื่องกัน
  • กดหน้าอกและเป่าปากอย่างต่อเนื่องจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

  1. เมื่อเครื่อง AED มาถึง ให้เปิดเครื่องและถอดเสื้อผ้าผู้หมดสติออก
  2. ติดแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย หลังจากนั้นไม่สัมผัสตัวผู้ป่วย
  3. ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED
  4. กดหน้าอกต่อทันที หลังทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง AED
  5. ส่งต่อผู้ป่วยเมื่อทีมกู้ชีพมาถึง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ควรโทรแจ้ง 1669 ซึ่งเป็นสายด่วนของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นจึงรีบให้การช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐาน เพื่อแก้ไขความผิดปกติของทางเดินหายใจและการหายใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยมากขึ้นก่อนถึงมือแพทย์นั่นเอง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
โรงพยาบาลเวชธานี โทร. 02-734-0000

  • Readers Rating
  • Rated 4.4 stars
    4.4 / 5 (11 )
  • Your Rating




บทความที่เกี่ยวข้อง