รับมืออย่างมั่นใจ เมื่อพบ “เนื้องอกมดลูก” ขณะตั้งครรภ์ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

รับมืออย่างมั่นใจ เมื่อพบ “เนื้องอกมดลูก” ขณะตั้งครรภ์

Share:

  • ตรวจพบเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์ต้องทำอย่างไรคะ?
  • ฝากท้องแล้วอัลตราซาวนด์พบเนื้องอก จะกระทบต่อการตั้งครรภ์ไหมคะ?
  • หากผ่าคลอด ให้คุณหมอผ่าเนื้องอกออกพร้อมกันได้หรือเปล่าคะ?

สารพันความกังวลใจของคุณแม่ หลังพบปัญหาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขณะตั้งครรภ์ ล้วนเกิดเป็นนานาคำถามที่ต้องการคำตอบ ว่าควรรับมืออย่างไร ปฏิบัติตัวแบบไหน เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์สามารถลืมตาดูโลกได้อย่างปลอดภัย

ความจริงแล้ว ผู้หญิงเกือบ 50% มีเนื้องอกกล้ามเนื้อ (Leiomyoma หรือ Uterine Fibroid) เพียงแต่อาจจะไม่มีอาการ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน จึงมักพบเนื้องอกนี้ครั้งแรกเมื่อตรวจอัลตราซาวนด์ขณะตั้งครรภ์

โดยการอัลตราซาวนด์ระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เป็นช่วงที่สามารถเห็นเนื้องอกในทุกตำแหน่งได้ง่ายที่สุด เนื่องจากมดลูกยังมีขนาดเล็ก เมื่อมดลูกและทารกมีขนาดโตขึ้นตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น การอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจดูก้อนเนื้องอกก็จะค่อนข้างจำกัด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หากมีเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขณะตั้งครรภ์

อันตราย หรือภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้จากเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของก้อน ขนาดของก้อน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเสริมอื่น ๆ ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูกในแต่ละราย จึงมีอาการแสดง และภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน โดยภาวะที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ก้อนโตเร็วขณะตั้งครรภ์และมีอาการปวด เนื่องจากขณะตั้งครรภ์มีฮอร์โมนสูง ทำให้ก้อนมีขนาดโตขึ้นเร็ว และเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกไม่เพียงพอ การขาดเลือดทำให้เกิดอาการปวด
  • ก้อนกดเบียดถุงการตั้งครรภ์ มักเกิดจากเนื้องอกชนิดที่ยื่นเข้ามาในโพรงมดลูก ซึ่งอาจขัดขวางการฝังตัวของถุงการตั้งครรภ์ในระยะแรก ทำให้แท้งง่าย หรือหากก้อนมีขนาดใหญ่จนโพรงมดลูกบิดเบี้ยวมาก อาจทำให้ทารกในครรภ์มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว เกิดภาวะข้อติดหรือผิดรูปตามมา
  • ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ มักพบในกรณีที่รกเกาะอยู่ตรงตำแหน่งของเนื้องอก หรือเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่กดเบียดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก
  • เสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด หากขนาดเนื้องอกมดลูกโตขึ้นมาก อาจทำให้เกิดเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด
  • ก้อนเนื้องอกขวางทางคลอด ในกรณีที่ก้อนอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก หรือบริเวณปากมดลูก ทารกไม่สามารถลอดผ่านออกมาได้ จึงทำให้เสียโอกาสคลอดธรรมชาติ
  • เสี่ยงต่อการมีภาวะตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากเนื้องอก ขัดขวางการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เสียเลือดมากจากภาวะมดลูกไม่หดรัดตัว ต้องตัดมดลูกเพื่อรักษาชีวิตคุณแม่ไว้

ดูแลตัวเองอย่างไร หากพบเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์?

นอกเหนือจากการดูแลครรภ์ตามปกติแล้ว คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น หากมีอาการปวดที่ก้อนมาก ๆ อาจต้องใช้ยาช่วย แต่ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือหากมีอาการมดลูกหดรัดตัวก่อนกำหนด ต้องรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อยับยั้งการคลอดตามความเหมาะสม นอกจากนี้ คุณแม่ต้องมาฝากครรภ์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด เพื่อติดตามสุขภาพของทารก และขนาดของเนื้องอกเป็นระยะ

คำถามยอดฮิต มีเนื้องอกแล้วคลอดเองได้หรือไม่?

หากก้อนเนื้องอก ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งขวางช่องทางคลอด คุณแม่สามารถคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ โดยต้องเฝ้าระวังภาวะตกเลือดหลังคลอด และภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวอย่างใกล้ชิด

ดีหรือไม่…หากผ่าเนื้องอกออกพร้อมกับผ่าคลอด?

ขณะตั้งครรภ์มดลูกของคุณแม่จะมีเลือดมาเลี้ยงปริมาณมาก โดยเส้นเลือดที่เคยมีขนาดเล็กจะขยายใหญ่ขึ้น การผ่าตัดจะทำให้เสียเลือดมากซึ่งไม่เป็นผลดี ฉะนั้นแพทย์จึงไม่แนะนำให้ผ่าเนื้องอกออกพร้อมกับผ่าคลอด นอกจากกรณีจำเพาะบางอย่าง

ส่วนใหญ่แล้ว เนื้องอกมักมีขนาดเล็กลงหลังคลอดแต่ไม่ได้หายไป เพราะไม่มีฮอร์โมนกระตุ้น หากไม่มีอาการของประจำเดือนผิดปกติ และอัลตราซาวนด์ติดตามอาการแล้วก้อนไม่โตขึ้น ก็อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

อย่างไรก็ดี การดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำ และพบแพทย์เพื่อติดตามสุขภาพของทารก และขนาดของเนื้องอก อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ถือเป็นหัวใจหลักในการรับมือกับภาวะเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขณะตั้งครรภ์ได้อย่างมั่นใจ

  • Readers Rating
  • Rated 4.7 stars
    4.7 / 5 (17 )
  • Your Rating