การขับถ่ายถือเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรสำคัญ เพื่อที่ร่างกายจะได้กำจัดของเสียออก ซึ่งการสังเกตอุจจาระของตัวเองไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะลักษณะและสีของอุจจาระนั้น สามารถบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้มากกว่าที่เราคิด ถ้าหากมีความผิดปกติ เช่น อุจจาระสีดำ คล้ำ แข็ง หรือถ่ายเป็นเลือด นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่แฝงอยู่ในร่างกาย โดยโรคที่สามารถระบุได้จากการมีเลือดปนในอุจจาระมีดังนี้
ริดสีดวงทวารหนัก
ผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักมากกว่าผู้ที่ขับถ่ายได้ตามปกติ ซึ่งโรคริดสีดวงทวารเกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือด อาจมีภาวะถ่ายเป็นเลือดสดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก โดยที่เลือดกับอุจจาระไม่ปนกันและอาจมีติ่งริดสีดวงปลิ้นออกมาจากรูทวาร โดยริดสีดวงทวารมักจะมีอาการปวดแสบระคายเคืองบริเวณรูทวารหนัก ดังนั้นหากพบว่าตัวเองถ่ายเป็นเลือด ไม่ควรนิ่งนอนใจและควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
เลือดออกในลำไส้ใหญ่
การถ่ายเป็นเลือดสดหรือมีลิ่มเลือดไหลออกมาพร้อมกับอุจจาระ แต่ไม่มีอาการปวดแสบทวารหนักหรือคลำได้ก้อนบริเวณทวารหนัก อาการลักษณะนี้เป็นอาการบ่งชี้ว่าอาจมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ หากมีเลือดไหลออกมาเล็กน้อยและหยุดไหลได้เอง สามารถรอดูอาการและมารับการตรวจภายหลังได้ แต่หากมีเลือดไหลออกมากควรรีบมารับการตรวจและรักษาโดยเร็วที่สุด
เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก
อาการของภาวะนี้อาจเริ่มจากอาเจียนออกมาเป็นเลือดก่อน หรืออาจไม่มีอาการอาเจียนเลยก็ได้ จากนั้นอาจตามด้วยการถ่ายเป็นเลือด โดยสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ว่าเลือดจะเป็นสีเข้มจนเกือบดำ กลิ่นเหม็นมากผิดปกติ และหากถ่ายเป็นเลือดสดจำนวนมากก็ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน
โรคลำไส้ขาดเลือด
โรคนี้เกิดจากการที่เลือดไม่สามารถเข้าไปไหลเวียนในลำไส้ได้จนทำให้เซลล์ลำไส้เริ่มไม่ทำงานและตายลงในที่สุด และเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ลำไส้ก็จะเริ่มเน่าจนมีแบคทีเรีย โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเกร็งท้องและอาจปวดมากจนหมดสติ หรืออาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ หากระหว่างปวดท้องมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย แสดงว่าอาการเริ่มรุนแรงและมีความเสี่ยงถึงขั้นวิกฤต หากพบว่าตัวเองถ่ายเป็นเลือดไม่ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด เพราะถ้าลำไส้บางส่วนเริ่มเน่าแล้ว จะต้องผ่าตัดนำลำไส้ส่วนที่เสียออกไป แล้วต่อลำไส้ที่ยังทำงานได้ตามปกติเข้าด้วยกัน ยิ่งได้รับการผ่าตัดเร็ว ลำไส้ส่วนขาดเลือดจนต้องผ่าตัดออกก็จะยิ่งน้อย
มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่จะทำให้เกิดแผลที่เยื่อบุผนังด้านในของลำไส้ใหญ่ ถ้าหากเป็นมะเร็งที่อยู่ใกล้ทวารหนักก็อาจมีอาการปวดเบ่งถ่ายไม่สุดหรือท้องผูกสลับท้องเสียได้ จึงทำให้มีความเสี่ยงในการถ่ายเป็นเลือดสดได้ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเกิดกับผู้ใหญ่อายุเกิน 40-50 ปี แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นกับคนวัยรุ่นวัยทำงานได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน
นอกจากถ่ายเป็นเลือด หรือ อุจจาระมีมูกเลือดปนจะเป็นสัญญาณอันตรายบ่งชี้ถึงโรคต่าง ๆ ได้แล้ว สีของอุจจาระที่แดงเข้ม เกือบดำ หรืออุจจาระสีดำก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น การทานอาหารที่มีเลือดสัตว์เป็นส่วนประกอบ หรือการอยู่ในระหว่างการทานยาบำรุงเลือด ดังนั้น หากมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือสีคล้ายเลือดเพียงเล็กน้อย และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ สิ่งที่ควรทำเพื่อช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้น คือ ควรรับประทานผักผลไม้มากขึ้น ดื่มน้ำมากขึ้น และออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยทั่วไปแล้ว การรักษาอาการถ่ายเป็นเลือดนั้นต้องพิจารณาจากสาเหตุของการเกิดโรคเป็นหลัก แต่หากไม่แน่ใจว่าอาการถ่ายเป็นเลือดที่เป็นอยู่เกิดจากสาเหตุใด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โทร. 02-734-0000 ต่อ 4500, 4501
- Readers Rating
- Rated 3.4 stars
3.4 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating