เด็กวัยกำลังซน ระวัง!! กระดูกต้นแขนส่วนปลายหักเหนือปุ่มศอก - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

เด็กวัยกำลังซน ระวัง!! กระดูกต้นแขนส่วนปลายหักเหนือปุ่มศอก

Share:

อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็กช่วงวัยกำลังซน 5-6 ปี ยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น เนื่องจากกระดูกของเด็กในช่วงอายุนี้ยังเติบโตไม่เต็มที่ และยังมีความเปราะบางอยู่มาก อุบัติเหตุหรือการกระแทกเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้กระดูกหักได้

พญ.พีระจิตร เอี่ยมสโภณา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า เด็กเล็กในช่วงวัยดังกล่าว มักมาพบแพทย์ด้วยปัญหากระดูกหักบริเวณต้นแขนส่วนปลายเหนือปุ่มข้อศอก มากถึงร้อยละ 60 เนื่องจากอุบัติเหตุจากการเล่น โดยเด็กจะบาดเจ็บในท่าข้อศอกเหยียดตรง ปวดบวมมากบริเวณข้อศอก และไม่ยอมใช้งานแขน ซึ่งหากสังเกตแล้วว่า ลูกน้อยมีอาการเข้าข่ายตามลักษณะนี้ ผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจการทำงานของเส้นประสาทและหลอดเลือด รวมถึงเอกซเรย์อย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยก่อนทำการรักษาต่อไป

ภาพแสดงกระดูกหักกระดูกหักบริเวณต้นแขนส่วนปลายเหนือปุ่มข้อศอก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

  • การบาดเจ็บต่อหลอดเลือด
  • การบาดเจ็บเส้นประสาท
  • ข้อศอกโก่งผิดรูป

การดูแลเบื้องต้น และแนวทางการรักษา

การดูแลเบื้องต้น ควรดามแขนในท่าที่ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ไม่พันแน่นเกินไป โดยงอศอกประมาณ 20-40 องศา และยกสูงกว่าระดับหัวใจ ซึ่งการงอหรือเหยียดศอกมากเกินไป จะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อหลอดเลือดแดง หรือภาวะแรงดันในกล้ามเนื้อสูงจนกล้ามเนื้อตายได้

จากนั้นแพทย์จะรักษา โดยการดึงกระดูกให้เข้าที่แล้วใส่เฝือกในกรณีที่กระดูกไม่เคลื่อน ส่วนในกรณีที่กระดูกมีการเคลื่อนจะทำการดึงกระดูกให้เข้าที่ แล้วตรึงกระดูกด้วยโลหะดามกระดูก จากนั้นใส่เฝือกต่ออีกประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อศอกผิดรูปในอนาคต

หลังการรักษา แพทย์จะนัดติดตามอาการและเอกซเรย์ผลการรักษาในช่วง 3-7 วัน หากกระดูกอยู่ในลักษณะที่ดี แพทย์จะแนะนำให้ใส่เฝือกต่อจนครบ 3-4 สัปดาห์ จากนั้นให้ทำกายภาพบำบัดโดยการฝึกงอเหยียดศอก ให้สามารถกลับมางอเหยียดตามได้ปกติ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 2298

  • Readers Rating
  • Rated 3.6 stars
    3.6 / 5 (11 )
  • Your Rating