พ่อแม่หมดกังวล หากลูกน้อยรับมือสิ่งต่าง ๆ ได้ดี จาก “ทักษะการคิดเชิงบริหาร” - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

พ่อแม่หมดกังวล หากลูกน้อยรับมือสิ่งต่าง ๆ ได้ดี จาก “ทักษะการคิดเชิงบริหาร”

Share:

สิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่กังวลเป็นอันดับต้น ๆ คือการปรับตัวของลูกสุดที่รัก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนใหม่ สังคมใหม่ รวมถึงกิจวัตรประจำวันที่ต่างออกไปจากเดิม เด็กบางคนสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี ในขณะที่เด็กบางคนอาจรับมือกับเรื่องเหล่านี้ได้ค่อนข้างยาก

ซึ่งการศึกษาพฤติกรรมและพัฒนาการของมนุษย์ กล่าวถึงความสามารถในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคน โดยผ่านการทำงานของสมองที่แตกต่างกัน ทักษะสมองนี้เรียกว่า “ทักษะการคิดเชิงบริหาร” หรือ “Executive Function”

“ทักษะการคิดเชิงบริหาร” คืออะไร?

การคิดเชิงบริหาร คือ กระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ กำกับควบคุม และปรับเปลี่ยนตนเอง ทั้งความคิดและการกระทำ เพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่มุ่งสู่เป้าหมาย (Goal Directed Behaviors) ไม่ใช่ทำสิ่งต่าง ๆ ตามสัญชาตญาณเท่านั้น โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่

  • ความจำขณะทำงาน (Working Memory) หมายถึง ความสามารถในการจดจำเรื่องราวข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในใจ และจัดการกับข้อมูลนั้น เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ เช่น คิดหาความเชื่อมโยงว่า สิ่งเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร จัดลำดับเหตุการณ์ว่าอะไรเกิดก่อนหรือหลัง เมื่อก่อนเป็นอย่างไรปัจจุบันเป็นอย่างไร การจดจ่อทำกิจกรรมที่มีหลายขั้นตอนได้โดยไม่ต้องเตือนว่าจะต้องทำอะไรต่อไป
  • การคิดยืดหยุ่น (Cognitive Flexibility) คือ ความสามารถในการเปลี่ยนจากกิจกรรมหนึ่งไปยังอีกกิจกรรมหนึ่งสลับไปมาได้ การเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนมุมมองได้ไม่ยึดติดกับความคิดเดียว รู้จักใช้วิธีที่หลากหลายในการแก้ปัญหา สามารถคิดสิ่งใหม่ ๆ จากมุมมองใหม่ได้ เช่น เมื่อเล่นเกมแล้วเกณฑ์ในการเล่นเปลี่ยนไป เด็กสามารถเปลี่ยนไปใช้กฎเกณฑ์ใหม่เพื่อเล่นต่อไปได้ เป็นต้น
  • การหยุด/ยับยั้งพฤติกรรม (Inhibit) หมายถึง ความสามารถในการอดทน ที่จะไม่ทำตามความต้องการหรือความอยาก แต่เลือกที่จะทำในสิ่งที่เหมาะสมและสำคัญกว่า เพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย การคิดก่อนทำ การควบคุมความสนใจให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำ ไม่วอกแวกไปกับสิ่งที่มาล่อใจ

ทำไมเด็ก ๆ จึงควรมี “ทักษะการคิดเชิงบริหาร”

การคิดเชิงบริหาร เป็นทักษะจำเป็นในชีวิตประจำวัน ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ เช่น เมื่อโมโหสามารถข่มใจระงับอารมณ์ได้ ไม่โวยวายทำลายข้าวของ หรือสนใจฟังสิ่งที่ครูสอนในห้องเรียน ไม่วอกแวกจากสิ่งเร้า นอกจากนี้ การคิดเชิงบริหาร ยังช่วยให้เด็กมีทักษะสังคมที่ดีขึ้น เช่น การทำงานเป็นกลุ่ม และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นต้น

  “ทักษะการคิดเชิงบริหาร” พัฒนาตอนไหน เกิดขึ้นเองได้หรือไม่?

สมองส่วนหน้า เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการคิดเชิงบริหาร จะพัฒนามากในช่วงวัย “เด็กเล็ก” จนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยทักษะการคิดเชิงบริหารจะพัฒนาเร็วสุดในช่วงวัย 3-5 ปี ซึ่งการมีทักษะการคิดเชิงบริหารทีดีนั้น เกิดจากการใช้ “เวลาคุณภาพ” กับครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก โดยผู้ปกครองคอยสนับสนุนให้เด็กได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ กับกิจกรรมเสริมทักษะที่เหมาะสมตามระดับพัฒนาการและช่วงวัย เช่น

  • วัย 6-18 เดือน: เล่นจ๊ะเอ๋ เกมซ่อนหา เกมเลียนแบบ เกมนิ้วมือ การพูดคุย
  • วัย 18-36 เดือน: กิจกรรมกลางแจ้ง เกมจับคู่ การเล่าเรื่อง
  • วัย 3-5 ปี: เล่นบทบาทสมมุติ กิจกรรมเข้าจังหวะ กิจกรรมเพิ่มสมาธิ
  • วัย 5-7 ปี: เกมกระดาน เกมการ์ด กิจกรรมกลุ่ม ดนตรี ศิลป จิตอาสา ฯลฯ

ทั้งนี้ การเลี้ยงดูและเอาใส่ใจของครอบครัว มีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะการคิดเชิงบริหารของเด็ก เริ่มต้นตั้งแต่การให้ความรักความอบอุ่น ให้เด็กเติบโตอย่างมีความสุข สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามวัย ได้เรียนรู้กิจกรรมที่หลากหลาย ได้ลองผิดลองถูกภายใต้การดูแลของคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเกิดเป็นทักษะการคิดเชิงบริหารแล้ว ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของเด็กต่อไปด้วย

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating