“สเตียรอยด์” หากใช้เกินจำเป็น ระวังผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์

บทความสุขภาพ

“สเตียรอยด์” หากใช้เกินจำเป็น ระวังผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์

Share:

กล่าวได้ว่า “สเตียรอยด์” เป็นตัวยาสำคัญ มีสรรพคุณรักษาโรคได้หลากหลาย และนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง แต่หลายต่อหลายครั้ง เรามักได้ยินเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้ยาซึ่งมีสเตรียรอยด์เป็นส่วนผสม นั่นอาจเป็นเพราะการใช้ยาอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่อยู่ในการควบคุมของแพทย์หรือเภสัชกร และหากใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ตามมาได้

สเตียรอยด์ (Steroid) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ต้านการอักเสบ ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ สเตียรอยด์ทางการแพทย์ หมายถึง คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งเป็นการสังเคราะห์เลียนแบบสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยหวังผลในส่วนของฤทธิ์ต้านการอักเสบในร่างกาย  แต่ด้วยฤทธิ์ครอบจักรวาลของสเตียรอยด์ จึงทำให้การใช้สเตียรอยด์สังเคราะห์นั้น เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์นอกเหนือจากเป้าหมายในการรักษาได้เช่นกัน

ยาสเตียรอยด์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ตามรูปแบบการใช้งาน

  1. ยาสเตียรอยด์ที่ใช้ภายนอก (External Use) หวังผลการรักษาให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่
  • ยาหยอดตา: สำหรับการอักเสบที่ตา เยื่อบุตาขาวอักเสบ
  • ยาพ่นจมูก: ใช้ควบคุมอาการภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ
  • ยาสูดพ่นทางปาก: ใช้ควบคุมอาการทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง
  • ยาทาทางผิวหนัง: ใช้สำหรับกดภูมิคุ้มกัน หรืออาการผื่นแพ้ที่ผิวหนัง
  1. ยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Use) หวังผลการรักษาที่ให้ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายทุกระบบ เช่น ยาฉีด และยารับประทาน ส่วนใหญ่ใช้ลดการอักเสบภายใน หรือเพื่อกดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ตนเอง (SLE) หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง และ อาการภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือทางเดินหายใจที่รุนแรง เป็นต้น

ประโยชน์ของยาสเตียรอยด์

สเตียรอยด์เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ อันได้แก่ อาการปวด บวม แดง ร้อน ของเนื้อเยื่อภายในร่างกาย รวมถึงฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันและลดไข้ จึงนิยมใช้ในการรักษาอาการปวดของกล้ามเนื้อบางชนิด หรือโรคทางเดินหายใจที่มีการอักเสบของหลอดลมร่วมด้วย เพื่อบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บป่วยน้อยลง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการเจ็บปวดหายไปอย่างรวดเร็ว

แม้มีประโยชน์ในการรักษา แต่หากใช้นานเกินจำเป็น อาจเกิดผลข้างเคียง

โทษของสเตียรอยด์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการใช้ยานานเกินความจำเป็น เช่น ได้รับยาในขนาดสูงเกินไป หรือได้รับยานานเกินไป โดยผลส่วนใหญ่ที่พบจะแบ่งเป็นผลทางผิวหนัง และผลต่อระบบอวัยวะภายในร่างกาย

  • อาการทางผิวหนัง มักเกิดจากการใช้สเตียรอยด์รูปแบบครีม ได้แก่ ผิวหนังซีดบางลง ผิวหนังอักเสบแตกเป็นลาย เกิดสิวสเตียรอยด์ เป็นต้น
  • ผลต่อระบบอวัยวะ เกิดจากกรณียารับประทาน ที่ใช้เป็นเวลานานหรือใช้พร่ำเพรื่อ ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อหลายระบบ เช่น อาการบวมน้ำ เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อแบคทีเรียจากฤทธิ์การกดภูมิคุ้มกัน เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการสะสมไขมันที่ใบหน้า หลัง และท้อง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน

ใช้สเตียรอยด์อย่างไร..ได้ประโยชน์ในการรักษาเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย

ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษา หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง หากมีความจำเป็นต้องซื้อยาสเตียรอยด์สำหรับทาภายนอกใช้เอง เพื่อการใช้สเตียรอยด์อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ดี ตามปกติแล้วยาสเตียรอยด์ในรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน จะสามารถสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ปัจจุบันมีการใส่สารสเตียรอยด์ในยาชุดลูกกลอน ที่อวดอ้างสรรพคุณรักษาสารพัดโรค ในปริมาณที่สูงกว่าขนาดปกติที่ใช้ในการรักษา ซึ่งจะทำให้ผู้รับประทานยาเกิดผลข้างเคียง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในบางรายได้


ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยาสเตรียรอยด์

  • ไม่ควรซื้อยาที่ไม่มีฉลากบ่งชี้ชัดเจน
  • เลี่ยงการรับประทานยาชุดหรือยาลูกกลอน ที่ไม่มีฉลากกำกับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • ควรใช้ยาภายใต้คำสั่งของแพทย์
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากสงสัยว่ามีอาการข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์
  • Readers Rating
  • Rated 3.3 stars
    3.3 / 5 (204 )
  • Your Rating