อย่าปล่อยให้ “ โรคกระดูกพรุน ” คุกคามร่างกายโดยไม่รู้ตัว
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า “ โรคกระดูกพรุน ” เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญต่อผู้สูงอายุมากที่สุด ซึ่งเกิดจากความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง โครงสร้างของกระดูกบาง กระดูกมีความแข็งแรงน้อยลง ส่งผลให้มีโอกาสเปราะหักง่าย
ส่วนใหญ่ โรคกระดูกพรุน จะทำให้กระดูกสำคัญหักง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อมือ และต้นแขน ทั้งนี้โรคกระดูกพรุน มักไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ ล่วงหน้ามาก่อน จึงนับว่าเป็น “ ภัยเงียบ ” ที่คุกคามร่างกายโดยไม่รู้ตัว
สาเหตุหลักของภาวะกระดูกพรุน
สาเหตุของ โรคกระดูกพรุน เกิดจากภาวะที่ร่างกายขาดสารตั้งต้น ในการเสริมสร้างกระดูกที่สำคัญ ได้แก่
- ขาดแคลเซียม หรือภาวะแคลเซียมน้อย
- การขาดสารอาหาร และวิตามินดี ที่ร่างกายต้องการ
- ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จากภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิง
- ออกกำลังกายน้อยเกินไป
โดยกลุ่มเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน มักพบในผู้สูงอายุและสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน แต่หากพบโรคกระดูกพรุนในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยมักมีสาเหตุมาจากการมีโรคประจำตัว เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับเลือด โรคที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อการสร้างกระดูก และโรคทางพันธุกรรม ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะกระดูกเสื่อมแต่เป็นเพราะการสร้างกระดูกผิดปกติ ที่อาจจะส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน ได้เช่นกัน
เหตุใด “กระดูกพรุน” จึงเป็นภัยเงียบ
โรคกระดูกพรุน นับเป็นภัยเงียบที่คุกคามร่างกายโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากโรคกระดูกพรุนไม่มีอาการเตือนใด ๆ ให้ระวัง จะทราบก็ต่อเมื่อกระดูกหักแล้ว หรือกระดูกสันหลังทรุด ซึ่งทำให้ปวดหลัง หลังค่อม ดูเตี้ยลง เคลื่อนไหวได้ลดลง นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบางราย อาจมีภาวะอาการฟันหลุดได้ง่ายอีกด้วย
5 วิธีสำคัญ เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงหลีกเลี่ยงอาการกระดูกพรุน
- เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และสารอาหารที่ให้แคลเซียมสูงและวิตามินดีสูง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย กระตุ้นให้กระดูกมีการสะสมแคลเซียมมากขึ้น
- งดเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- ควรรับแสงแดดอ่อน ๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น เพื่อกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่มีคุณภาพ เพื่อดึงแคลเซียมไปใช้ในการสร้างมวลกระดูก
- หมั่นดูแลสุขภาพจิตให้สดใสแข็งแรงควบคู่กับสุขภาพกาย
3 ข้อสังเกตบ่งชี้ภาวะกระดูกพรุน
- ส่วนสูงลดลง
- หลังค่อมขึ้น
- กระดูกหักง่าย
เราสามารถทราบภาวะกระดูกพรุนได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งมีการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก (DXA) โดยตรวจที่กระดูกสันหลังระดับเอว และข้อสะโพก ร่วมกับเจาะเลือดตรวจหาระดับแคลเซียมและวิตามินดี
ส่วนวิธีการรักษา โรคกระดูกพรุน นั้น ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาแบบเฉพาะ เป็นเพียงการชะลอการเสื่อมหรือป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกด้วยการใช้ยา เช่น แคลเซียม วิตามินดี และยาลดการทำลายกระดูก ซึ่งยาลดการทำลายกระดูกเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง นอกจากนั้นยังมีการให้ฮอร์โมนทดแทน รวมไปถึงการระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการหกล้ม ที่อาจจะมีโอกาสทำให้กระดูกหักได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 2298
- Readers Rating
- Rated 4.8 stars
4.8 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating