รู้ไว้ใช่ว่า! ความสำคัญของ “HBA1c” กับค่าเฉลี่ย น้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวาน - Vejthani

บทความสุขภาพ

รู้ไว้ใช่ว่า! ความสำคัญของ “HBA1c” กับค่าเฉลี่ย น้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวาน

Share:

รู้ไว้ใช่ว่า! ความสำคัญของ “HBA1c” กับค่าเฉลี่ย น้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวาน

พฤติกรรมการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน ทั้งการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด และภาวะอ้วน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น

โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ไตวาย ตาบอด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพจากการถูกตัดขา และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้

ทั้งนี้ การตรวจติดตามค่าน้ำตาลสะสม ซึ่งใช้วินิจฉัยโรคเบาหวาน ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นแล้ว พญ.สมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลเวชธานี จึงแนะนำให้รู้จัก ค่าฮีโมโกลบินเอวันซี “HBA1c” เพื่อให้ผู้ป่วยประเมินความสามารถในการควบคุมเบาหวานในช่วงเวลาที่ผ่านมา และสามารถดูแลตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“HBA1c” คืออะไร?

ฮีโมโกลบินเอวันซี “HBA1c” เป็นการวัดค่าน้ำตาลกลูโคสที่จับอยู่กับฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง โดยค่าดังกล่าวจะรวมระดับน้ำตาลกลูโคสทั้งก่อนและหลังอาหาร ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้สามารถดูภาพรวมของน้ำตาลเป็นช่วงเวลา ได้ดีกว่าค่าของค่าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารในวันที่มาพบแพทย์

ค่า “HBA1c” เท่าไหร่ จึงวินิจฉัยเป็นเบาหวาน

สมาคมเบาหวานแห่งอเมริกา (American Diabetes Association) กำหนดค่า “HBA1c” อยู่ที่ มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% ในการวินิจฉัยเบาหวาน เนื่องจากสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาสูงถึง 20%

เป้าหมายในการรักษาเบาหวาน กับค่า “HBA1c”

เป้าหมายของการรักษาเบาหวาน คือควบคุมระดับ “HBA1c” ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 7% หรือหากเทียบกับค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด จะอยู่ที่ 154 มก./ดล. หากผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองและควบคุมเบาหวานได้ดี ค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด และ “HBA1c” จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งช่วยชะลอและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้

อย่างไรก็ตาม ค่า “HBA1c” ยังมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจาง โรคฮีโมโกลบินผิดปกติ โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย ไตวายเรื้อรัง หรือมีภาวะเสียเลือดมาก ซึ่งทำให้ค่า “HBA1c” เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง และมีโอกาสแปลงผลคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกการตรวจน้ำตาลสะสม ด้วยวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมแทน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 1071

  • Readers Rating
  • Rated 4 stars
    4 / 5 (22 )
  • Your Rating