“ไทรอยด์” (Thyroid Gland) เป็นต่อมไร้ท่อใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนและหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปทำหน้าที่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปธาลามัส ซึ่งการสร้างฮอร์โมนนั้นจำเป็นต้องใช้ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ หากได้รับไอโอดีนมากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้การทำงานผิดปกติและส่งผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกระบบในร่างกาย
ความสำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์
ฮอร์โมนไทรอยด์ส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้
- ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ
- สัมพันธ์กับการทำงานของสมองและระบบประสาท รวมถึงภาวะด้านอารมณ์
- ควบคุมระบบเผาผลาญและอุณหภูมิของร่างกาย
- ช่วยส่งเสริมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อ หัวใจ กระดูก
ทั้งนี้ หากร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงกว่าปกติ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น โดยภาวะนี้เรียกว่า “ไทรอยด์เป็นพิษ” ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
สาเหตุ “ไทรอยด์เป็นพิษ”
ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีสาเหตุของโรคแตกต่างกันไป ดังนี้
- สร้างฮอร์โมนมากผิดปกติ
- ต่อมไทรอยด์อักเสบ จึงปล่อยฮอร์โมนที่เก็บไว้ออกมาเป็นจำนวนมาก
- ได้รับฮอร์โมนไทรอยด์มากเกิน จากยาหรือส่วนผสมในอาหารเสริมบางชนิด
- การรับประทานยาบางชนิด
- ภาวะแพ้ท้องรุนแรง หรือเนื้องอกรังไข่สร้างฮอร์โมนมากเกินไป
- เนื้องอกต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนกระตุ้น แต่พบได้น้อยมาก
เมื่อร่างกายเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดง บางรายอาจแสดงอาการชัดเจนและเป็นรุนแรงมากจนถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของร่างกายหลายระบบพร้อมกัน โดยผู้ป่วยแต่ละรายแสดงอาการได้หลากหลาย ดังนี้
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด : เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลว
- ระบบประสาท : มือสั่น หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ
- ระบบผิวหนัง : เหงื่อออกมาก ผิวชื้น ผมร่วง ศีรษะล้าน ผิวหนังบริเวณหน้าแข้งหนาขึ้น นิ้วปุ้มหรือนิ้วตะบอง เล็บกร่อน
- ระบบตา : ตาโตขึ้น เปลือกตาเปิดกว้าง หรืออาจตาโปน
- ระบบทางเดินอาหาร : หิวบ่อย ถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน
- ระบบเผาผลาญ : น้ำหนักตัวลดแม้รับประทานอาหารในปริมาณปกติหรือรับประทานมากกว่าปกติ ตัวอุ่นขึ้น
- ระบบสืบพันธุ์ : ประจำเดือนมาผิดปกติ กะปริบกะปรอย ประจำเดือนขาด มีบุตรยาก
- ระบบกล้ามเนื้อ : อ่อนแรง มือสั่น
- คอ : คอโต บางรายอาจมีก้อนที่บริเวณคอ
การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ
สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนโดยการกลืนแร่รังสีหรือผ่าตัด อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาโรคไทรอยด์ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
วิธีการดูแลตัวเองหากไทรอยด์เป็นพิษ
ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจติดตามอาการ และรับประทานยาสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไอโอดีนสูง วางแผนการคุมกำเนิดอย่างจริงจังและไม่ควรตั้งครรภ์ขณะมีอาการ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับแม่และทารก หากมีอาการผิดปกติหรืออาการกำเริบต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ
โทร.
- Readers Rating
- Rated 3.4 stars
3.4 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating