“มือเท้าชา” อย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคปลายประสาทอักเสบ
มือเท้าชา เป็นอาการที่พบมากในกลุ่มวัยทำงาน เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน กิจกรรมที่ต้องใช้มือมากทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึงจนเกิดอาการชา หรือร่างกายมีแร่ธาตุและวิตามินผิดปกติ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยๆ และทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวกับปลายประสาทอักเสบ
ทำความรู้จัก “ปลายประสาทอักเสบ”
ปลายประสาทอักเสบ เป็นกลุ่มอาการของเส้นประสาท ซึ่งทำหน้าที่รับคำสั่งจากสมองและไขสันหลัง ไปยังอวัยวะต่างๆ หากเส้นประสาทจุดใดจุดหนึ่งมีปัญหา อาจส่งผลให้อวัยวะส่วนนั้นทำงานผิดปกติ และเกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า ไม่สามารถรับรู้ได้ถึงอาการเจ็บปวด แสบร้อน สั่นสะเทือน หรือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้
ความสำคัญของ “เส้นประสาท”
เส้นประสาท ทำหน้าที่รับและส่งข้อมูลเข้าออกจากสมอง ไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากเส้นประสาททำงานผิดปกติ จะส่งผลให้อวัยวะส่วนนั้นๆ ทำงานผิดปกติไปด้วย โดยเส้นประสาทแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
- เส้นประสาทในสมอง ควบคุมจากสมองโดยตรง ไม่ผ่านไขกระดูกสันหลัง ควบคุมการทำงานของประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การมองเห็น การได้กลิ่น การลิ้มรส การทรงตัว การกลืนอาหาร การขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้า การออกเสียง และควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ คอ ลิ้น
- เส้นประสาททั่วไป กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เป็นเส้นประสาทที่ต่อมาจากไขกระดูกสันหลัง ดูแลกล้ามเนื้อของอวัยวะต่างๆ
ปัจจัยเสี่ยงโรคปลายประสาทอักเสบ
- เส้นประสาท ปลอกหุ้มเส้นประสาทอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
- มีความผิดปกติแต่กำเนิดหรือมีประวัติครอบครัวที่เคยเป็นโรคเกี่ยวข้องกับเส้นประสาททำงานผิดปกติ
- มีประวัติการติดเชื้อจากโรคใดโรคหนึ่ง
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงต่อโรคเส้นประสาทที่เกิดจากโรคเบาหวาน
- ใช้ข้อมือมาก อาจเสี่ยงเป็นโรคเส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ
- เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคไต ภาวะขาดวิตามินอย่างรุนแรง เช่น วิตามินบี 12 หรือภาวะโปรตีนในเลือดสูงผิดปกติ
รู้หรือไม่ อาการชาปลายมือปลายเท้า อันตราย เสี่ยงอัมพาต!
อาการชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้าลามถึงสะโพก เป็นอีกหนึ่งอาการชาที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะหากปล่อยไว้นานๆ อาจเป็นโรคอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท
ชาปลายมือปลายเท้า บ่อยแค่ไหนจึงควรพบแพทย์?
หากมีอาการชาที่บริเวณปลายมือปลายเท้าตั้งแต่ 2-3 วันขึ้นไป และไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกาย เปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวันให้บ่อยขึ้น รวมถึงเปลี่ยนที่นอน เปลี่ยนหมอน หากอาการมือเท้าชายังไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลาราว 1 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์
การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า
กรณีอาการชาไม่รุนแรง มีอาการชาแปล๊บๆ ซ่าๆ เป็นระยะ ให้สะบัดข้อมือข้อเท้า หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ก็สามารถหายได้ หรืออาจรับประทานวิตามินบีเสริม เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด เป็นต้น
กรณีอาการชารุนแรงและต่อเนื่อง อาจต้องรักษาอาการชาปลายมือปลายเท้าด้วยยาต้านการอักเสบของเส้นประสาท หากอาการชายังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอ็นที่กดรัดเส้นประสาทนั้นออก
กรณีเป็นผลข้างเคียงจากโรคอื่น หากอาการชาเป็นผลพวงมาจากโรคเดิมที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ผู้ป่วยควรลดระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจให้วิตามินเสริมแก่ร่างกาย เป็นต้น
แม้ว่าอาการมือเท้าชา จะดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ที่เกิดขึ้นเพียงบางครั้งบางคราว แต่เราก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะหากเป็นต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคอันตราย ดังนั้น เราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบอาการชาผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี โทร. 02-734-0000 ต่อ 5400
- Readers Rating
- Rated 3.4 stars
3.4 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating