รักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีที่ได้ประสิทธิภาพ เพื่อคืนคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วย
“โรคมะเร็ง” เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของทางสาธารณสุขที่ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปทั่วโลก เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี ทำให้วงการแพทย์และผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงของโรคมะเร็ง จึงคิดค้นวิจัยเกี่ยวกับวิธีการรักษาใหม่ ๆ ออกมาเป็นทางเลือกรักษาโรคมะเร็งในแต่ละอาการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคมะเร็งอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการผ่าตัด การฉายรังสี ไปจนถึงการใช้ยารักษามะเร็ง
การผ่าตัด (Surgery)
เป็นเทคนิคการรักษาโรคมะเร็งดั้งเดิม ที่ในปัจจุบันยังคงเป็นมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งในระยะเริ่มต้น เนื่องจากก้อนและการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งยังอยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงสามารถรักษาให้หายขาดได้จากการผ่าตัดที่เหมาะสม
การฉายรังสี (Radiotherapy)
ถูกพัฒนามามากกว่า 100 ปีก่อน รักษาโรคมะเร็งโดยใช้คลื่นเอกซเรย์ขนาดสูง หรือคลื่นกัมมันตรังสี เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยรังสีความเข้มสูงสามารถทำลายเซลล์ได้ถึงระดับ DNA มะเร็งบางชนิดตอบสนองต่อการใช้รังสีรักษาได้ดีสามารถใช้รังสีรักษาแทนการผ่าตัดได้ บางชนิดตอบสนองไม่ดีจึงใช้รังสีรักษาเป็นการรักษาร่วมก่อน-หลังผ่าตัด และหรือให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ปัจจุบันเทคโนโลยีการใช้รังสีรักษาพัฒนาไปมาก ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น และทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อยลง ลดอาการข้างเคียงจากรังสีรักษาได้ดีขึ้น (ถึงแม้จะมีข้อมูลการเกิดโรคมะเร็งชนิดใหม่ในบริเวณที่เคยฉายรังสี แต่ก็มีอุบัติการณ์ค่อนข้างต่ำ)
การใช้ยาเคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy)
หลังจากใช้รังสีในการรักษาโรคมะเร็งมาระยะเวลาหนึ่ง จึงมีการศึกษาและพัฒนา “ยารักษามะเร็ง” ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งในขั้นตอนการแบ่งเซลล์ และมีความสามารถในการฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยเรียกสารที่ออกฤทธิ์ในการรักษามะเร็งว่า Cytotoxic หรือ “เคมีบำบัด” ในปัจจุบัน โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่จะเข้าไปยับยั้งวงจรชีวิต-การแบ่งตัวของเซลล์ ทำให้เซลล์ที่มีการแบ่งตัวสูงหรือผิดปกติ ซึ่งก็คือคุณสมบัติของเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่ ถูกทำลาย แต่ข้อเสียหลักๆของยาเคมีบำบัดคือมีความจำเพาะต่ำ แม้จะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเป็นหลัก แต่ก็ทำลายเนื้อเยื่อดีด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดผลข้างเคียงและเกิดความไม่สุขสบายแก่ผู้ป่วย แต่ข้อดีคือ ยารักษามะเร็งจะเข้าสู่ร่างกายไปตามกระแสเลือด จึงสามารถออกฤทธิ์ได้ทั่วร่างกาย ยาเคมีบำบัดจึงเหมาะสำหรับใช้เป็นการรักษาเสริม ก่อนหรือหลังผ่าตัด หรือใช้ร่วมกับการฉายรังสีในมะเร็งระยะต้น เพื่อให้หายขาดจากโรคมะเร็ง และมีบทบาทสำคัญในการใช้รักษาโรคมะเร็งระยะแพร่กระจาย ที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมด และหรือไม่สามารถระบุตำแหน่งในการฉายรังสีได้
การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน (Hormonal Therapy)
เป็นการรักษาโรคมะเร็งด้วยยา ที่ไปออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากฮอร์โมนบางชนิดสามารถกระตุ้นการเกิดโรคมะเร็งได้ การรักษาด้วยวิธีนี้มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับการใช้ยารักษามะเร็งที่เป็นเคมีบำบัด แต่ข้อจำกัดคือสามารถใช้รักษาได้เฉพาะโรคมะเร็งที่กลไกการเกิดโรคเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน โดยปัจจุบันใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม ที่ถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนเพศหญิง และมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนเพศชาย เป็นหลัก
การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)
จากประสบการณ์การใช้ยารักษามะเร็งที่เป็นเคมีบำบัดเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับองค์ความรู้ชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง จึงทำให้มีการพัฒนา “ยารักษามะเร็ง” ที่เรียกว่า “ยามุ่งเป้า” ซึ่งสามารถทำลายเซลล์มะเร็ง โดยไม่ออกฤทธิ์กับเซลล์ปกติ หรือมีผลกับเซลล์ปกติน้อยที่สุด ยามุ่งเป้า เป็นยารักษามะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง เนื่องจากยาจะไปออกฤทธิ์เฉพาะเซลล์ที่มีความผิดปกติ ที่ตรงกับกลไกการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งความผิดปกตินี้เป็นกลไกหลักที่ทำให้เป็นโรคมะเร็ง-มะเร็งแพร่กระจาย กลไกการออกฤทธิ์ของยาพุ่งเป้าอาจจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกเซลล์มะเร็งก็ได้ ขึ้นกับกลไกความผิดปกติจำเพาะนั้นๆ ข้อดีคือ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพมาก ผลข้างเคียงน้อย และปลอดภัย แต่เนื่องจากเป็นยารักษามะเร็งที่ค่อนข้างใหม่ ใช้เทคโนโลยีในการศึกษาและการผลิตระดับสูง ยาจึงมีราคาแพง ปัจจุบันมีข้อมูลทางการแพทย์ว่า การรักษาโรคมะเร็งจำนวนมากตอบสนองต่อการรักษาด้วยยามุ่งเป้า เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดสีผิว มะเร็งไต และมะเร็งระบบเลือด เป็นต้น
การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
หลักของการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีนี้ คือการให้ยาหรือสารเพื่อไปปรับระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่ออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง และไปลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบางส่วน ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการโตของเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด มีข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นมาตรฐานการรักษาในโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดสีเมลาโนมา เป็นต้น เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย แต่ข้อเสียคือยามีราคาแพง และอาจจะได้ผลดีหรือเหมาะสำหรับคนไข้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น นอกจากนี้ การรักษาโดยระบบภูมิคุ้มกัน ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เรียกว่า “CAR-T cell” คือการนำ T-cell (มีหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกายของผู้ป่วย) มาปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หลังจากนั้นจะใส่กลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยตามเดิม โดย T-cell ที่ถูกดัดแปลง จะไปเกาะจับกับผิวเซลล์ของเซลล์มะเร็ง และเริ่มต้นทำลายเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยระบบภูมิคุ้มกัน ยังเป็นการรักษาที่ใหม่มาก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ไม่ได้ใช้เป็นมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน โดยโรคที่มีข้อมูลเพียงพอและเป็นมาตรฐานในการรักษาส่วนใหญ่ คือ มะเร็งระบบเลือด และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow/Stem Cell Transplantation)
การปลูกถ่ายไขกระดูก มีทั้งการใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวเอง หรือของบุคคลที่มีความเข้ากันได้ของระบบภูมิคุ้มกัน ข้อมูลในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งระบบเลือดอื่น ๆ หรือมะเร็งเซลล์สืบพันธุ์บางชนิด
ทั้งนี้ การศึกษามะเร็งในปัจจุบันค่อนข้างกว้างขวาง นำไปสู่การรักษาโรคมะเร็งที่หลากหลายและบางกรณีการรักษาจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยการเลือกวิธีในการรักษา แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง ลักษณะของเซลล์ การแสดงออกทางระบบภูมิคุ้มกันวิทยา ระยะของโรค ตำแหน่งของโรค รวมถึงสุขภาพความแข็งแรงโดยรวมของผู้ป่วย เพื่อเลือกการรักษาโรคมะเร็งที่เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด หรือยารักษามะเร็งก็ตาม โดยเป้าหมายคือให้การรักษาที่หวังผลได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับความพยายามให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์มะเร็ง โทร. 02-734-0000 ต่อ 4500, 4501
- Readers Rating
- Rated 4.5 stars
4.5 / 5 (Reviewers) - Outstanding
- Your Rating