โรคอกบุ๋ม" คืออะไร รักษาได้ด้วยการผ่าตัด | Vejthani"

บทความสุขภาพ

“ โรคอกบุ๋ม ” รักษาได้!! อย่าปล่อยให้รบกวนการทำงานของหัวใจ และบั่นทอนบุคลิกภาพ

Share:

“ โรคอกบุ๋ม”  รักษาได้!! อย่าปล่อยให้รบกวนการทำงานของหัวใจ และบั่นทอนบุคลิกภาพ

โรคอกบุ๋ม หรือ อกหวำ (Pectus Excavatum) เป็นความผิดรูปของผนังทรวงอกที่พบมากที่สุด เกิดจากการเจริญเติบมากเกินปกติ และผิดทิศทางของกระดูกอ่อนซี่โครงระดับล่าง ส่งผลให้กระดูกสันอกถูกกดยุบลงไป ความผิดปกตินี้อาจพบได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือส่วนมากภายหลังตอนเข้าสู่วัยรุ่น โดยทั่วไปแล้วจะไม่กระทบต่อการทำงานของทรวงอก หรือหัวใจ แต่บั่นทอนความมั่นใจ ในรายที่กระดูกยุบมากอาจทำให้การทำงานของหัวใจถูกรบกวนได้ เช่น ปริมาตรของเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจลดลง ปริมาตรอากาศที่หายใจเข้าออกลดลง ความจุของปอดลดลง เป็นต้น

ลักษณะการผิดรูปของโรคอกบุ๋ม

  1.  Cup Deformity : ลักษณะยุบตัวเฉพาะส่วนล่างเห็นรอยบุ๋มเป็นรูปถ้วย
  2. Saucer Deformity : ลักษณะของการยุบตัวเป็นแผ่นกว้างเหมือนจาน
  3. Grand Canyon Deformity : ลักษณะยุบตัวเป็นแนวยาวคล้ายร่องหรือหุบเขา

สาเหตุและกลุ่มเสี่ยงโรคอกบุ๋ม

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้หน้าอกเกิดการผิดรูป แต่พบว่า 20% ของผู้ป่วยจะมีสมาชิกในบ้านมีความผิดปกติของรูปทรงทรวงอกชนิดนี้ด้วยเช่นกัน และเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3-4 เท่า นอกจากนี้ ปัจจัยด้านพันธุกรรม เช่น ความอ่อนแอของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และภาวะที่เส้นเอ็นทั่วร่างกายหย่อนแต่กำเนิด อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

อาการของผู้ป่วยโรคอกบุ๋ม

  • กรณีไม่ปรากฏอาการทางร่างกาย อาจเจ็บบริเวณทรวงอกหรือกระดูกอ่อนซี่โครง ระหว่างหรือหลังจากใช้กำลังบริเวณทรวงอก
  • กรณีมีอาการแสดงทางร่างกาย จะปรากฏกระดูกสันอกยุบตัวลง เห็นได้ชัดเจนจากภายนอก
  • จำนวน 30% ของผู้ป่วย อาจตรวจพบเสียงหัวใจผิดปกติ จากการรั่วของลิ้นหัวใจไมตรัลร่วมด้วย หรือเป็นเสียงฟู่อันเกิดจากเลือดไหลผ่านหัวใจผิดปกติจนเกิดเสียง
  • กระดูกสันหลังคดระดับอกและเอว
  • ลิ้นหัวใจไมตรัลโป่งยื่นหรือปิดไม่สนิท
  • ถุงลมในปอดแตกทำให้เกิดภาวะปอดรั่ว

การผิดรูปของผนังทรวงอกชนิดนี้ไม่สามารถดีขึ้นได้เอง จึงต้องอาศัยการผ่าตัดเท่านั้น โดยวิธีการผ่าตัดมาตรฐานมี 3 วิธีคือ

  1. ผ่าตัดค้ำกระดูก (Ravitch Procedure) เป็นวิธีดั้งเดิม โดยตัดแยกกระดูกอ่อนซี่โครงในระดับของกระดูกสันอกที่ยุบตัว เพื่อยกกระดูกสันอกขึ้น และตัดกระดูกสันอกในแนว ใช้แถบโลหะมาขัดไว้ เพื่อให้ทรวงอกคงรูปตามต้องการ และปล่อยแถบโลหะไว้ในร่างกายอย่างน้อย 6 เดือนแล้วจึงผ่าตัดนำแถบโลหะออก
  2. ผ่าตัดพลิกกระดูกสันอก (Sternal Turnover) เป็นการผ่าตัดแบบเปิด เพื่อตัดกระดูกสันอกทั้งหมดออกจากกระดูกซี่โครงอ่อน และพลิกกระดูกสันอกด้านในออกมาข้างนอก และตรึงกระดูกให้อยู่กับที่
  3. ผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง (Minimally Invasive Repair of Pectus Excavatum : MIRPE) เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องวิดีทัศน์ภายในโพรงเยื่อหุ้มปอด เพื่อจัดกระดูกให้ได้แนวที่ต้องการ อาศัยการสอดแถบโลหะ (Nuss Bar) แทรกเข้าไประหว่างช่องว่างระหว่างกระดูกสันอกและเยื่อหุ้มหัวใจ วิธีการผ่าตัดนี้ไม่มีการตัดกระดูกหรือกระดูกอ่อนแต่อย่างใด โดยแถบโลหะจะใส่ค้างไว้ 4 ปี จากนั้นจึงผ่าตัดนำแถบโลหะออก

อีกหนึ่งความผิดปกติของทรวงอก ที่อยู่ในกลุ่มประเภทเดียวกัน คือ “หน้าอกนูน” (Pectus Carinatum) เกิดจากการเจริญของกระดูกซี่โครงอ่อนมากกว่าปกติ แต่เป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับ “อกบุ๋ม” (Pectus Excavatum) จึงทำให้กระดูกสันอกโป่งยื่นออกมามากกว่าปกติ มักพบความผิดปกตินี้ในช่วงวัยรุ่น รบกวนการทำงานของหัวใจน้อยกว่าอกบุ๋ม ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ ด้วยอาการปวดบริเวณด้านข้างของกระดูกสันอก

เนื่องจากผู้ป่วยอกนูน มีจำนวนน้อยกว่าอกบุ๋มค่อนข้างมาก การผ่าตัดในอดีตต้องตัดกระดูกซี่โครงอ่อน แต่ในปัจจุบันจะใช้แถบโลหะกดกระดูกสันอกลงไป ตรงกันข้ามกับการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกบุ๋มนั่นเอง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 5300

  • Readers Rating
  • Rated 4.2 stars
    4.2 / 5 (36 )
  • Your Rating