ลองสำรวจตัวเอง เคยปวดข้อมือนานๆ ไหม? อาจเป็นอาการของโรครูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์ อาการปวดบริเวณข้อต่างๆ เช่น ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า อาจไม่ใช่อาการปวดเมื่อยทั่วไป แต่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง ที่มีลักษณะอาการอักเสบของข้ออย่างรุนแรงและเรื้อรัง อาจเกิดขึ้นได้กับทุกข้อทั่วทั้งร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษา ในระยะยาวอาจทำให้ข้อถูกทำลาย กระดูกกร่อน ข้อผิดรูป และเกิดความพิการตามมาได้
สาเหตุการเกิดโรครูมาตอยด์
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด
- การสูบบุหรี่
- ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่นๆ
อาการของโรครูมาตอยด์
- อาการของโรคพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อัตราส่วน 8:1 พบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น จนถึงวัยสูงอายุ
- ปวดข้อ และข้ออักเสบเรื้อรัง ต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณข้อนิ้วมือ และข้อมือ
- กรณีอาการรุนแรง อาจข้ออักเสบได้ทุกข้อทั่วทั้งร่างกาย รวมทั้งข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า
- ข้อที่อักเสบหากกดแล้วจะเจ็บ ร่วมกับบวม แดง อุ่น เมื่อขยับหรือใช้งานจะมีอาการปวดมากขึ้น
- มีอาการข้อฝืด ตึง แข็ง ขยับได้ลำบากหลังตื่นนอนตอนเช้า
- ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วยได้
การตรวจวินิจฉัย และการรักษา
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ถ่ายภาพรังสี ตรวจเลือดหาค่ารูมาตอยด์ และสารภูมิต้านทานที่จำเพาะต่อโรครูมาตอยด์ ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยแล้วผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โดยเป้าหมายในการรักษา มุ่งหวังให้โรคสงบ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ปวดข้อ ทำงาน หรือใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และลดโอกาสเกิดข้อพิการ โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้
- รักษาด้วยยา ทั้งยารับประทานและยาฉีด เพื่อลดการอักเสบของข้อ ชะลอ และป้องกันการทำลายข้อในระยะยาว
- กายภาพบำบัด และออกกำลังกายควบคู่ เพื่อคงความยืดหยุ่นของข้อ
- การผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเทียม เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว ช่วยลดความเจ็บปวด และแก้ไขความพิการ
อย่างไรก็ตาม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้ว่าโรคจะสงบแล้วก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องติดตามการรักษา และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมโรคไม่ให้กลับมารุนแรง อย่างไรแล้ว การรักษาจะประสบความสำเร็จดีได้ เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรกที่เริ่มมีอาการ ดังนั้น หากเริ่มมีอาการปวดข้อ หรือข้อบวม แดง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยแลรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2200, 2204
- Readers Rating
- Rated 4.2 stars
4.2 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating