รับมืออย่างไร? เมื่อต้องทานยา ‘ไทรอยด์’ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

รับมืออย่างไร? เมื่อต้องทานยา ‘ไทรอยด์’ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

Share:

ไทรอยด์ เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่า ต่อมไทรอยด์ของเราทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย หรือต่อมไทรอยด์ทำงานมาก แพทย์จะเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยไทรอยด์แต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา การกลืนแร่รังสี หรือการผ่าตัด แต่อย่างไรแล้ว ผู้ป่วยไทรอยด์อาจต้องรับประทานยาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน หรืออาจตลอดชีวิต เพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติ

Q&A การรับประทานยา สำหรับผู้ป่วยไทรอยด์

Q: ผู้ป่วยไทรอยด์ต้องทานยาตลอดชีวิตจริงหรือไม่?
A:
ไม่เสมอไป เนื่องจากการรักษาความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ด้วยยา อาจไม่ถึงกับต้องรับประทานยาตลอดชีวิต แต่อาศัยระยะเวลาที่นานพอสมควร อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป โดยแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการและระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นระยะ ๆ เช่น ทุก 1-2 เดือน เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม จนกว่าระดับฮอร์โมนไทรอยด์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงอาจพิจารณาหยุดยาได้ แต่หากเป็นภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำถาวร ที่เกิดหลังจากกลืนแร่หรือผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาให้ไทรอยด์ฮอร์โมนแบบรับประทานเสริมตลอดชีวิต เพื่อทดแทนไทรอยด์ฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างไม่ได้

Q: การรับประทานยาไทรอยด์มีผลข้างเคียงหรือไม่?
A: อาจเกิดผลข้างเคียงได้ แต่เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อยนัก ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย สำหรับผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น

  • ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ มักมีไข้สูง หรือเจ็บคอ ควรได้รับการตรวจติดตามค่าเม็ดเลือดขาว
  • ค่าการทำงานของตับสูง สังเกตได้จากอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ตาเหลือง ตัวเหลือง
  • ภาวะหลอดเลือดอักเสบ เช่น มีไข้ ไอเป็นเลือด ปวดข้อ ปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงปน

หากมีอาการดังกล่าวต้องกลับมาพบแพทย์ เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาโรคไทรอยด์แบบอื่นแทน

Q: หากลืมทานยา ต้องทำอย่างไร มีผลอะไรไหม?
A: เนื่องจากการทานยาเพื่อรักษาความผิดปกติของไทรอยด์นั้น ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปี ดังนั้นจึงควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตลอดการรักษาไทรอยด์ แต่หากลืมรับประทานยา สามารถประทานยาต่อได้ โดยมีข้อแนะนำดังนี้

  • กรณีรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง สามารถทานทันทีที่นึกได้ แต่หากลืมนานกว่า 12 ชั่วโมง ให้ข้ามไปรับประทานในวันถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
  • กรณีรับประทานยาวันละ 2-3 ครั้ง สามารถทานทันทีที่นึกได้ แต่หากระยะเวลาใกล้กับมื้อถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

อย่างไรก็ตาม หากลืมเป็นประจำ หรือทานยาไม่สม่ำเสมอ ทำให้โอกาสหายขาดจากโรคไทรอยด์ลดน้อยลง

Q: ซื้อยารับประทานเองโดยไม่ผ่านเภสัชกร มีผลเสียหรือไม่?
A:
การซื้อยารับประทานเองต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะหากเราไม่สามารถทราบได้ว่าเราเป็นไทรอยด์ชนิดใด จึงมีโอกาสที่จะได้ยาไทรอยด์ผิดชนิด ทำให้การรักษาไทรอยด์ไม่เกิดประสิทธิภาพ และทำให้อาการของโรคไทรอยด์แย่ลง

การรับประทานยาไทรอยด์ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ รวมถึงต้องรับประทานสม่ำเสมอทุกวันตามแพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดยา หรือเพิ่มลดขนาดยาด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้การรักษาไทรอยด์ไม่ได้ผล หรือกลับมาเป็นโรคซ้ำได้ และควรตรวจติดตามอาการกับแพทย์ตามนัด เพื่อการปรับยาที่ต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน ต้องระมัดระวังการใช้ยาบางชนิดที่อาจรบกวนการทำงานของยา ดังนั้นหากต้องการใช้ยาอื่น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อปรับระดับยาให้เหมาะสม

  • Readers Rating
  • Rated 4 stars
    4 / 5 (62 )
  • Your Rating