อาการชา สามารถเกิดได้ทุกส่วนในร่างกาย แม้กระทั่งการชาที่ใบหน้า โดยอาการชาที่ใบหน้านั้น สามารถเกิดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงตั้งแต่วัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ เกิดจากพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับความรู้สึก หากเซลล์ประสาทยังไม่ตายจะเป็นอาการปวดแต่หากเซลล์ประสาทตายหรือถูกตัดขาดจะทำให้เกิดอาการชา บางรายอาจจะพบอาการคร่อมกันคือทั้งปวดใบหน้าและชาใบหน้าร่วมด้วย
สาเหตุของอาการชา
อาการชาที่ใบหน้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การอักเสบของเส้นประสาท โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกต่างๆ โรคไตเสื่อม โรคเบาหวาน ขาดวิตามินบี และ บางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณใบหน้า โดยจะแบ่งออกเป็น 3 แขนง
- เส้นประสาทออพตัลมิก (Ophthalmic branch) จะเกิดอาการช่วงหน้าผาก ดวงตา และจมูก
- เส้นประสาทแมกซิลลารี (Maxillary branch) จะเกิดอาการช่วงแก้มทั้งสองข้าง (สีเหลือง)
- เส้นประสาทแมนดิบุลาร์ (Mandibular branch) จะเกิดอาการช่วงคาง ขากรรไกร ด้านข้างของใบหน้าและใบหูเล็กน้อย (สีส้ม)
- เส้นประสาทคู่ที่ 7 (Facial nerve) จะเกิดอาการช่วงลิ้นส่วนหน้าและใบหูชั้นกลาง
- เส้นประสาทคู่ที่ 9 (Glossopharyngeal nerve) จะเกิดอาการช่วงใบหู หลังโพรงจมูก คอหอย ลิ้นส่วนหลัง ทอนซิล และกล่องเสียง
- เส้นประสาทคู่ที่ 10 (Vegas nerve) จะเกิดอาการช่วงใบหูและเส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอและหลังกะโหลกศีรษะ (สีม่วงและสีฟ้า)
การวินิจฉัย
อาการชาที่ใบหน้า ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการซักประวัติอย่างละเอียด ทั้งลักษณะของอาการอาการร่วม และการดำเนินโรค ประวัติการรักษาโรคในช่องปากมาก่อนหน้านี้ โรคประจำตัวการสัมผัสกับสารพิษ จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจหาความผิดปกติทางเส้นประสาททั้งหมดร่วมกับทำการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อแยกโรคออกจากโรคอื่นๆ ได้ตรงจุดและช่วยให้การวินิจฉัยถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น
การรักษา แบ่งออกได้เป็น 3 แนวทางคือ
- การรักษาด้วยยา จะให้ได้ผลดีต้องกระทำโดยเร็วที่สุด ยาที่ใช้จะเป็นในกลุ่มสเตอรอยด์ ยาในกลุ่มวิตามินบีรวม หรือยาที่มีฤทธิ์รักษาเส้นประสาทส่วนปลายด้วย การใช้ยาต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้นเนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างอันตรายไม่ควรซื้อยาทานเอง
- การรักษาด้วยกายภาพบำบัด ใช้การกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อใบหน้าที่การใช้ความร้อนประคบบริเวณใบหน้าที่มีอาการชา การออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้า
- การรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดจะทำกรณีที่มีอาการของโรครุนแรงและไม่หายในรายที่เป็นผลมาจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ถูกทำลายหรือฝ่อลีบ เช่น ผ่าตัดแก้ไขหนังตาที่ปิดไม่สนิท การต่อและเลี้ยงเส้นประสาทสมองคู่อื่นเพื่อนำมาใช้ทดแทนเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7
แนะนำว่า หากยังมีอาการชาที่ใบหน้าอยู่เรื่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจร่างกาย และอาจต้องตรวจเพิ่มเติมอื่น แล้วจึงให้การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5400
- Readers Rating
- Rated 3.7 stars
3.7 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating