การประคับประคองอาการริดสีดวงทวาร ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันในหลอดเลือดดำต้นเหตุของ โรคริดสีดวงทวาร ซึ่งมีวิธีการรักษาเบื้องต้นดังนี้
วิธีการรักษาริดสีดวงเบื้องต้นด้วยตัวเอง
- พยายามอย่าให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเดินบ่อย ๆ โดยควรรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอสุก และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย หากยังมีอาการท้องผูกอีก ให้รับประทานยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซียม หรือสารเพิ่มกากใย เป็นต้น
- ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น และไม่เบ่งอุจจาระรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งถ่ายเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการยืน การเดิน และการนั่งแช่เป็นเวลานาน ๆ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้โรคริดสีดวงทวารเป็นมากขึ้นได้
- ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- เมื่ออุจจาระหรือปัสสาวะเสร็จ ควรล้างก้นด้วยน้ำอุ่น ๆ หรือน้ำสะอาด พยายามรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ แต่หากอยากใช้สบู่ ก็ควรเป็นสบู่เด็กอ่อน เพื่อลดการระคายเคืองของหัวริดสีดวงที่กำลังบวมหรือมีการอักเสบอยู่ (ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระแบบแข็ง แต่ควรใช้วิธีชุบน้ำ หรือใช้กระดาษชำระชนิดเปียกแทน)
- หากหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอก ให้ใส่ถุงมือแล้วใช้ปลายนิ้วชุบสบู่เพื่อหล่อลื่น แล้วดันหัวกลับเข้าไปใหม่ ซึ่งจะช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ผล แนะนำให้ไปพบแพทย์
ทางเลือกการรักษาริดสีดวง
โดยทั่วไปแล้วโรคริดสีดวงทวารไม่เป็นอันตราย แต่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หากลองใช้วิธีรักษาริดสีดวงเบื้องต้นด้วยตัวเอง เช่น การนั่งแช่น้ำอุ่นในกะละมัง 15 นาที ทั้งก่อนและหลังอุจจาระ การใช้ยาเหน็บริดสีดวงเพื่อบรรเทาอาการเจ็บแล้วไม่ดีขึ้น อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าสามารถฉีดยาเพื่อให้ริดสีดวงฝ่อได้หรือไม่ แต่สำหรับในผู้ป่วยในระยะ 3-4 ที่ริดสีดวงมีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถดันกลับเข้าไปเองได้อาจจะต้องใช้การผ่าตัด ซึ่งวิธีการผ่าตัดรักษานั้นจะทำให้สามารถนำริดสีดวงออกได้ ผู้ป่วยจะไม่มีแผลหนัก และมีอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ภาวะแทรกซ้อนจากริดสีดวง
ไม่ใช่แค่ความเจ็บปวดและทรมานเท่านั้น แต่โรคริดสีดวงยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ภาวะการตกเลือดที่อาจนำไปสู่สาเหตุของโลหิตจาง ซึ่งสังเกตได้ว่าอาจจะมีเลือดไหลซึมออกมาจากทวารหนักหรือในช่วงที่ลำไส้เคลื่อนตัว หรือหากผู้ป่วยมีริดสีดวงโผล่ออกมาภายนอกอาจทำให้เกิดการอักเสบและเจ็บปวดทรมาน นอกจากนี้ยังมีอาการลิ่มเลือดอุดตันโดยก้อนเลือดจะจับตัวอยู่ภายในบริเวณที่เกิดริดสีดวงซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรงอีกด้วย
ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป
โทร. 02-734-0390 ต่อ 4500, 4501
- Readers Rating
- Rated 3.1 stars
3.1 / 5 (Reviewers) - Good
- Your Rating