ฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมอง ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน (Deep brain stimulation; DBS) - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมอง ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน (Deep brain stimulation; DBS)

Share:

ฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองทางเลือกสำหรับ

ผู้ป่วยพาร์กินสัน(Deep brain stimulation; DBS)

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองส่วนที่สร้างสารสื่อประสาท ชื่อ โดปามีน ซึ่งสารสื่อประสาทชนิดนี้มีความสำคัญต่อสมองในการควบคุมการเคลื่อนไหวของมนุษย์ หากร่างกายสร้างโดปามีนได้ลดลง จะส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวลดลงหรือเคลื่อนไหวช้าลง อีกทั้งยังก่อให้เกิดอาการสั่นและอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เมื่อผู้ป่วยขาดสารโดปามีนมากขึ้นตามการดำเนินของโรค อาการเหล่านี้ก็จะแย่ลง รวมถึงทำให้เกิดอาการอื่นๆของการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น เช่น การทรงตัวที่ไม่ดี การก้าวขาไม่ออกหรือเดินซอยเท้า เป็นต้น

การรักษาโรคพาร์กินสัน คือ การเพิ่มระดับโดปามีนในสมอง หากร่างกายผลิตเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยโดปามีนภายนอกเข้าไปทดแทนในรูปแบบของยารับประทาน ยาแปะผิวหนังหรือยาฉีด ในปัจจุบันมีการพัฒนายาออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ยาทั้งหมดที่มีเป็นยาที่ใช้ในการควบคุมอาการของโรค ยังไม่สามารถใช้รักษาเพื่อให้หายขาดหรือชะลอการดำเนินของโรคได้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป สมองมีความเสื่อมมากขึ้น อาการของโรคก็รุนแรงตามไปด้วย จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อควบคุมอาการ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเพิ่มขนาดยาเพื่อรักษาความสมดุลของระดับ โดปามีนแล้ว แต่ประมาณ 3-5 ปีหลังจากรักษา การตอบสนองต่อยาจะไม่ดีเหมือนระยะแรก เช่น ยากออกฤทธิ์สั้นลง ยาไม่ออกฤทธิ์ในบางมื้อ หรือ มีการเคลื่อนไหวมากเกินกว่าจะควบคุมได้ (อาการยุกยิก) เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง  ในช่วงหลายสิบปีนี้ มีความพยายามในการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีภาวะตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอและที่พยายามรักษาด้วยการกินยาหรือฉีดยาแล้วยังไม่ดีขึ้น ในรูปแบบของการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก โดยการผ่าตัดใส่สายตัวนำกระแสไฟฟ้า (Lead) ไปยังตำเหน่งที่คาดว่าเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน จากกนั้นเชื่อมต่อสายตัวนำกับตัวกระตุ้น (Neurostimulator) ที่มักจะวางไว้ที่กล้ามเนื้อหน้าอกของผู้ป่วย ระบบของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (สายตัวนำ สายต่อ (Extension) และตัวกระตุ้น) จะอยู่ภายใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ต้องกังวลเรื่องของไฟฟ้ารั่ว เมื่อผู้ป่วยฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าแล้ว จำเป็นต้องมาเปิดเครื่องประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้เครื่องปรับกระแสไฟฟ้า (Physician programmer) ทาบกับตัวกระตุ้นที่ฝังไว้ที่หน้าอก ส่วนการดูแลระยะยาวนั้น ผู้ป่วยต้องกลับมาปรับกระแสไฟเป็นระยะๆเช่นเดียวกับการมาปรับยารับประทาน

ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดสามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว และเป็นที่ยอมรับขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาและยุโรปว่าวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึกนี้ ไม่ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายของผู้ป่วยพาร์กินสัน แต่ควรเป็นการรักษาควบคู่กันไปกับการให้ยา เพราะการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ก็เป็นการควบคุมอาการของโรคเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาให้หายขาดจากตัวโรคพาร์กินสัน

สำหรับ ผลของการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึกที่เห็นชัดเจน คือ การออกฤทธิ์ของยาสม่ำเสมอมากขึ้น อาการยุกยิกลดลง และผู้ป่วยส่วนมากสามารถลดปริมาณยารักษาโรคพาร์กินสันลงได้ มากกว่า 50% มีเพียงบางส่วนของผู้ป่วยที่สามารถหยุดยารับประทานได้เลย

ดังนั้นแนวทางการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมอง (DBS) จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพของการรักษาภาวะการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ (ยาหมดฤทธิ์เร็ว + อาการยุกยิก) ไม่ตอบสนองต่อยากินหรือยาฉีดแล้ว ผู้ป่วยที่ประสบปัญหาดังกล่าวจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงที่ร่างกายจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการผ่าตัดได้

  • Readers Rating
  • Rated 4.4 stars
    4.4 / 5 (4 )
  • Your Rating