หลายคนอาจเคยรู้สึกถึงอาการ ‘ใจสั่น’ แต่กลับมองข้ามไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แล้วก็หายไปเองได้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จากปัจจัยธรรมดาทั่วไป เช่น เกิดจากความรู้สึกตื่นเต้น กลัว วิตกกังวล ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง พักผ่อนไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารบางชนิด หรือได้รับสารกาเฟอีนมากเกินไป แต่ในผู้ป่วยบางรายภาวะใจสั่นอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคหัวใจอย่างเส้นเลือดในหัวใจอุดตัน หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นกะทันหันได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการใจสั่นที่เป็นอันตรายมักมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติ ดังนั้น การค้นหาสาเหตุที่แท้จริงจึงมีความจำเป็นเพราะจะทำให้รู้ถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่และแพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด
อาการใจสั่นเกิดจากอะไร
สาเหตุของอาการใจสั่นในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปมักเกิดจากสาเหตุดังนี้
- ภาวะกดดันทางอารมณ์และจิตใจ เช่น ความเครียด กังวล ตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ เสียใจ
- ภาวะเจ็บป่วยทางกายภาพทั่วไป เช่น ไข้หวัด ติดเชื้อ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย โลหิตจาง ไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด
- ภาวะจากปัจจัยทั่วไป เช่น พักผ่อนน้อย นอนไม่หลับ รับประทานอาหารหรือยาบางชนิด
นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว อาการใจสั่นยังเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่บ่งบอกถึงภาวะหัวใจมีปัญหาอีกด้วย โดยความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจที่มีอาการใจสั่นร่วมด้วยที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ความผิดปกติทางโครงสร้างหัวใจอื่น ๆ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยอาการใจสั่น
นอกจากการซักประวัติแล้ว แพทย์จะพิจารณาตรวจด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา 24 – 48 ชั่วโมง
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- ทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินสายพาน
- ตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจ
- ตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ
การรักษาผู้ป่วยใจสั่น
สำหรับผู้ที่มีอาการใจสั่นแต่อาการไม่รุนแรงหรือไม่ได้มีสาเหตุจากโรคที่เป็นอันตราย แพทย์อาจพิจารณารักษาที่ต้นเหตุของอาการและรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย มักมีสาเหตุจากโรคที่เป็นอันตราย แพทย์จะพิจารณาการรักษาโรคนั้น ๆ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง แพทย์จะให้การรักษาด้วยการสวนและจี้ไฟฟ้าหัวใจ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม
ทั้งนี้ สามารถลดความเสี่ยงการเกิดอาการใจสั่นได้ ด้วยการงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อเช็กความแข็งแรงของหัวใจ
ติดต่อสอบถาม
ศูนย์หัวใจ ชั้น 5 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300
- Readers Rating
- Rated 4.4 stars
4.4 / 5 (Reviewers) - Outstanding
- Your Rating