‘เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ใจสั่น เป็นลม วูบหมดสติ’ เป็นอาการบ่งบอกถึงความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดที่พบได้บ่อย แต่ยังมีอีกหลายอาการที่เราคาดไม่ถึงว่า มีความเกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดด้วย ไม่ว่าจะเป็น ‘จุกแน่นท้อง ปวดหลัง ปวดเอว’ ทำให้ตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน และได้รับการรักษาที่ล่าช้า
โรคหัวใจและหลอดเลือด กับอาการแสดงที่คาดไม่ถึง
อาการที่พบได้บ่อย
- เจ็บแน่นหน้าอก
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- ใจสั่น
- วูบ
อาการที่พบได้ไม่บ่อย
- จุกแน่นท้อง โดยเฉพาะบริเวณลิ้นปี่
- คลำพบก้อนในช่องท้อง
- ปวดหลัง ปวดเอว
- เป็นลมหมดสติ
‘ปวดหลัง ปวดท้อง’ อาจเกิดจากหลอดเลือดแดงโป่งพอง
สำหรับผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดหลัง เสียงแหบ จุกแน่นท้อง ปวดท้อง รู้สึกอิ่มง่าย คลำพบก้อนในช่องท้อง อาจเกิดจากการความผิดปกติของเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือดแดงโป่งพอง ในส่วนของช่องอก หรือช่องท้อง
ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผนังหลอดเลือดแดงส่วนที่โป่งพอง อาจฉีกขาดหรือแตก ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกร้าวไปหลัง ปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง ซีดอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตต่ำ วูบเป็นลมหมดสติ จนถึงอาจถึงขั้นเสียชีวิตฉับพลันได้
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง มักเป็นเพศชาย สูงอายุ และมีประวัติสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในหลอดเลือดสูง และโรคติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น
หากมีอาการผิดปกติ ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยง ควรพบแพทย์เพื่อทำตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้รับการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น เอกซ์เรย์ช่องอก (Chest X-Ray) ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงบริเวณช่องท้อง (Ultrasound Abdomen) หรือการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดแดงใหญ่ (CT: Computed Tomography Aorta) เป็นต้น
การรักษาโรคผนังหลอดเลือดแดงโป่งพอง
จุดมุ่งหมายหลักในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง คือการป้องกันไม่ให้ผนังหลอดเลือดแดงที่โป่งพองนั้น ฉีกขาดหรือแตก จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องประเมินหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ตำแหน่งและขนาดของหลอดเลือดแดงที่โป่งพอง การกดเบียดอวัยวะข้างเคียง อายุและโรคร่วมของคนไข้ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยปัจจุบันการรักษาจะมีอยู่ 2 วิธีหลัก ประกอบด้วย
- การผ่าตัดเปิดช่องท้อง: เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐาน แพทย์ต้องวางยาสลบ และทำการเปิดแผลใหญ่ตั้งแต่ลิ้นปี่จนถึงขาหนีบ เพื่อซ่อมผนังหลอดเลือดแดงส่วนที่โป่งพอง และใส่หลอดเลือดแดงเทียมแทน
- การผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด: เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก และเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษา ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในการผ่าตัด โดยแพทย์ใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวดเข้าไปแทนที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องท้อง ผ่านทางหลอดเลือดแดงของขาหนีบทั้งสองข้าง ข้อดีคือแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวเร็ว และมีความปลอดภัยสูงลดภาวะแทรกซ้อน จึงมีความปลอดภัยสูง แต่วิธีนี้อาจไม่สามารถทำได้ในคนไข้ทุกราย
อย่างไรก็ตาม หลังการรักษา คนไข้จำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้หลอดเลือดแดงโป่งพองได้อีก เช่น งดสูบบุหรี่ ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในหลอดเลือดให้เหมาะสม เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีประวัติสูบบุหรี่ แนะนำให้รับการตรวจคัดกรอง หาภาวะหลอดเลือดแดงในช่องท้องโป่งพอง ด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงบริเวณช่องท้อง เพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากพบความผิดปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 5300
- Readers Rating
- Rated 3.4 stars
3.4 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating