หากกล่าวถึงตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ หลายต่อหลายคนอาจยังไม่พร้อมที่จะเข้ารับการตรวจ อันเนื่องมาจากบางปัจจัยที่จำเป็น เช่น การงดน้ำงดอาหาร ทานยาระบาย หรือสวนทวารเตรียมลำไส้ให้สะอาด ก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
แต่ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อวินิจฉัยอาการผิดปกติต่าง ๆ โดยเฉพาะติ่งเนื้อหรือก้อนในลำไส้ อีกทั้งยังมีข้อมูลสำคัญจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่พบว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10,624 ราย ในปี 2554 มาอยู่ที่ 12,563 ราย ในปี 2557 ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว มากเป็นอันดับ 5 ของโลก
และคาดการณ์ว่า หากไม่มีนโยบายคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างจริงจัง จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี และจะส่งผลให้ มีผู้เสียชีวิต จากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มากกว่า 3,000 รายต่อปีเลยทีเดียว
สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งเป็นสาเหตุหลักได้ 2 กลุ่ม คือ สาเหตุที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ และสาเหตุที่สามารถเปลี่ยนได้
สาเหตุที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอายุ 45 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้
- เคยมีติ่งเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็งในลำไส้มาก่อน
- เคยเป็นมะเร็งลำไส้ส่วนอื่นมาก่อน
- มีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบ ชนิด Inflammatory Bowel Disease: IBD
- มีประวัติคนในครอบครัว ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ หรือมีติ่งเนื้อในลำไส้
สาเหตุที่สามารถเปลี่ยนได้
- การรับประทานอาหาร โดยเฉพาะประเภทปิ้งย่างที่มีรอยไหม้ เนื้อสัตว์แปรรูป และของหมักดอง เช่น กุนเชียง ไส้กรอก เบคอน เนื้อเค็ม ลูกชิ้น แหนมสด ปลาแห้ง เนื้อแห้ง เป็นต้น
- น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรืออยู่ในภาวะอ้วน
- การออกกำลังกาย
- การสูบบุหรี่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เป็นมาตรฐาน และแนะนำจากสมาคมมะเร็ง สหรัฐอเมริกา และยุโรป คือ การส่องกล้องตรวจทั้งลำไส้ใหญ่ ชนิด Colonoscopy โดยแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรอง ที่อายุ 45 ปี ในกลุ่มที่ไม่มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบ ชนิด IBD หรือ ไม่เคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ หรือไม่เคยมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้
ข้อดีของการส่องกล้องตรวจลำไส้ นอกจากจะตรวจหาก้อนในลำไส้แล้ว ยังสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้หรือไม่ และยังสามารถตัดติ่งเนื้อในลำไส้ ที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็งในอนาคตออกได้อีกด้วย
แต่ทั้งนี้ ความยุ่งยากของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนเลี่ยงการตรวจคัดกรอง เพราะจะต้องงดน้ำงดอาหาร ทานยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้ก่อนมาตรวจ อย่างไรก็ตาม แม้การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง แต่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น อาการท้องอืดท้องเฟ้อ มวนท้อง และอาจมีภาวะเลือดออกในลำไส้กรณีที่ต้องตัดก้อนเนื้อไปตรวจ เป็นต้น
การเจาะเลือดคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้โดยการเจาะเลือด ลดความยุ่งยาก และคลายความรู้สึกอึดอัดระหว่างการส่องกล้อง
การเจาะเลือดตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารล่วงหน้า ซึ่งการเจาะเลือดตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะทำในแลปพิเศษเพื่อวัดปริมาณเซลล์มะเร็งลำไส้ที่หลุดออกมาอยู่ในเลือด และจะทราบผลหลังจากเจาะเลือดประมาณ 2 สัปดาห์
ความแม่นยำในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเลือด
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเลือดเป็นวิธีการที่ได้รับการรับรองในต่างประเทศ ซึ่งผลวิจัยพบว่า การตรวจเลือดมีความแม่นยำถึง 95% เทียบเท่ากับการส่องกล้องตรวจลำไส้
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จะพัฒนาไปมาก แต่ปัญหาคือ การละเลยในการตรวจคัดกรองโรค และมักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากแล้ว จึงพบโรคในระยะที่มากขึ้น ทำให้การรักษาโรคมะเร็งและโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งลดลง
ดังนั้น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปกติ ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ เพื่อรับการวินิจฉัยแน่เนิ่น ๆ ซึ่งหากพบมะเร็งในระยะเริ่มต้น จะทำให้ง่ายต่อการรักษา และเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย
- Readers Rating
- Rated 4.8 stars
4.8 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating