ไวรัสตับอักเสบป้องกันได้ด้วยวัคซีน - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

ไวรัสตับอักเสบป้องกันได้ด้วยวัคซีน

Share:

ไวรัส คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่ออาศัยอยู่ในเซลล์สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น มนุษย์ หรือสัตว์ จะทำให้เกิดโรคตามชนิดของไวรัสนั้น ๆ สำหรับ “ไวรัสตับอักเสบ” เป็นกลุ่มของไวรัสที่ติดเชื้อเซลล์ตับส่งผลให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับตามมา กลุ่มไวรัสตับอักเสบที่มีความสำคัญทางการแพทย์คือไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี โดยไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซีนับเป็นไวรัสตับอักเสบที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังจนนำไปสู่ตับแข็งและมะเร็งตับได้

มารู้จักไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดกัน

ไวรัสตับอักเสบเอ

คือไวรัสตับอักเสบที่ติดต่อทางอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ โดยอาหารที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอคืออาหารจำพวกหอย จากการรับประทานแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เมื่อรับเชื้อไปประมาณ 1 เดือน ร่างกายจะเริ่มมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย คลื่นไส้ และอาเจียน โดยอาการดังกล่าวมักหายภายใน 2 สัปดาห์ และไม่มีผลเสียต่อตับในระยะยาว แต่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังหรือตับแข็ง หากติดเชื้อไวรัสนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงต่อไวรัสตับอักเสบเอ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังระวังเรื่องการรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยง ร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ จำนวน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ

ไวรัสตับอักเสบบี

มีรูปแบบการติดเชื้อเช่นเดียวกับการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ทางเลือด ทางเข็ม ทางเพศสัมพันธ์ และมารดาสู่บุตร เป็นไวรัสที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศไทย ในอดีตยังไม่มีการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ผลของการติดเชื้อเรื้อรังในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน บางรายเป็นเพียงพาหะแพร่เชื้อ บางรายตับอักเสบ
รุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล บางรายอาจพัฒนาเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพศชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทุกราย ควรตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินสภาวะของโรคและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

การรักษา

ปัจจุบันการรักษามี 2 วิธี คือการฉีดยากลุ่มอินเตอร์เฟอรอน และการรับประทานยาต้านไวรัสตับอักเสบบีประสิทธิภาพการรักษาในปัจจุบันถือว่ายังไม่ดี เป็นเพียงการควบคุมโรคเท่านั้น ไม่สามารถทำให้หายขาดได้ สำหรับการฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถยับยั้งผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ได้

ไวรัสตับอักเสบซี

มีรูปแบบการติดเชื้อทางเลือดเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังอาจติดเชื้อได้ทางเพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยรักร่วมเพศชายกับชาย เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบของตับแบบเรื้อรัง เป็นผลให้เกิดพังผืดในตับมากขึ้นจนเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้

การรักษา

ไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาอย่างน้อย 2 ชนิด อาจเป็นแบบรวมในเม็ดเดียวกันหรือแบบแยกเม็ด ใช้เวลาเพียง 12 สัปดาห์ ก็สามารถหายขาดจากการติดเชื้อได้มากกว่า 98% แต่ในอดีตต้องฉีดยาอินเตอร์เฟอรอนร่วมกับรับประทานยาไรบาวิรินเป็นเวลา 24-48 สัปดาห์ โอกาสหายจากโรคประมาณ 40-70% อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยารับประทาน 2 ชนิดนี้ มีข้อจำกัดในแง่ของราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนยังไม่สามารถรักษาได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการไม่ใช้เข็มร่วมกับผู้ป่วยอื่นเช่นเดียวกับการป้องกันติดเชื้อเอชไอวี

ไวรัสตับอักเสบดี

เป็นไวรัสที่ต้องอาศัยไวรัสตับอักเสบบีในการดำรงชีวิตอยู่รอดในเซลล์ตับ ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้นที่จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี โดยมากจะติดเชื้อจากทางเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลันและสามารถหายได้เอง ยกเว้นผู้ป่วยที่มีโรคตับเรื้อรังรุนแรงอยู่แล้ว อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาและการป้องกันสำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดนี้

ไวรัสตับอักเสบอี

เป็นไวรัสตับอักเสบที่ระบาดในประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน สำหรับประเทศไทยพบได้เป็นครั้งคราว มักได้รับเชื้อจากอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น เนื้อหมู หมูป่า หรือสัตว์ปีก นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อผ่านทางเลือดได้ เมื่อติดเชื้อจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลียเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น โดยทั่วไปมักหายได้เอง แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ตั้งครรภ์หากได้รับเชื้อจะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคตับรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงต่อไวรัสตับอักเสบนี้การป้องกันด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ และสะอาด จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

ไวรัสตับอักเสบทุกชนิดสามารถก่อให้เกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลันได้ แต่อาจไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีโรคตับเรื้อรัง โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีและซีเพราะสามารถทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับได้ ซึ่งการรักษาไวรัสตับอักเสบบีเป็นเพียงแค่การยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสและมักจะไม่หายขาด ซึ่งต่างจากไวรัสตับอักเสบซีที่สามารถรักษาหายขาดได้มากถึง 98% นอกจากนี้ การรับประทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณ รวมถึงได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 2960

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (3 )
  • Your Rating