โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง เป็นกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักเกิดจากเยื่อบุทางเดินหายใจมีความไวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการ เช่น ไอ หอบเหนื่อย มีน้ำมูก เสมหะเยอะ หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะตอนกลางคืน ตอนเช้ามืด ขณะออกกำลังกาย หรือขณะเป็นไข้หวัด
การรักษาส่วนใหญ่ จะให้ยารับประทานควบคู่กับการปฏิบัติตัวเพื่อลดการกำเริบของโรค แต่ก็ยังมีการใช้ยาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่แพทย์มักพิจารณาใช้ควบคู่กับยารับประทาน นั่นก็คือกลุ่มยาสูดพ่นในทางเดินหายใจ เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
สำหรับยาสูดพ่นในทางเดินหายใจ มักอยู่ในรูปของผงละเอียดเล็ก หรือละอองยาขนาดเล็กมาก โดยมีอุปกรณ์พ่นยา ทำหน้าที่เป็นภาชนะบรรจุและนำส่งยาออกไป ข้อดีของการใช้อุปกรณ์พ่นยาในทางเดินหายใจคือ สามารถนำส่งยาขนาดเล็กไปยังส่วนลึกของปอดและถุงลมได้โดยตรง อีกทั้งผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับยารับประทาน
แต่ทั้งนี้ ก็มีข้อควรพิจารณาก่อนสั่งยา โดยแพทย์จะต้องประเมินก่อนว่า ผู้ป่วยสามารถใช้อุปกรณ์พ่นยาได้หรือไม่ เช่น ในผู้สูงอายุจะต้องประเมินแรงในการสูดหายใจทางปาก แรงในการกดอุปกรณ์พ่นยา และความสัมพันธ์ของการกดอุปกรณ์พ่นยาและการสูดยา ในผู้ป่วยเด็กอาจต้องมีอุปกรณ์เสริมเพื่อให้เด็กใช้ยาง่ายขึ้น
ดังนั้น การใช้เครื่องพ่นยา จะมีประโยชน์ต่อการรักษา เมื่อผู้ป่วยสามารถใช้อุปกรณ์ได้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้ใช้ยาพ่นยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รู้จัก…อุปกรณ์พ่นยา ที่ใช้รักษาโรคระบบหายใจ
อุปกรณ์พ่นยาของตัวยาแต่ละชนิด อาจมีความแตกต่างกันตามแต่ที่บริษัทผู้ผลิตได้ทำการคิดค้นมา แต่เราสามารถจัดกลุ่มอุปกรณ์พ่นยาแบ่งตามรูปแบบของยาที่บรรจุอยู่ภายในและลักษณะของยาที่ถูกนำส่งออกมาจากอุปกรณ์ได้ดังนี้
- อุปกรณ์พ่นยาที่นำส่งยาในรูปแบบของ Soft mist™ หรือ หมอก คือ Respimat® การสูดยาตัวนี้จะสูดเข้าทางปาก โดยอาศัยแรงสูดที่ช้า และลึก
- อุปกรณ์พ่นยาที่นำส่งยาในรูปแบบของสารละลาย แต่เมื่อกดที่อุปกรณ์ตัวยาจะถูกปลดปล่อยออกมาในรูปแบบละอองฝอย คือ Pressurized Metered Dose Inhaler (pMDIs) ควรเขย่าอุปกรณ์นี้ในแนวขึ้นลงก่อนสูด 5-10 ครั้ง การสูดยาตัวนี้จะสูดเข้าทางปาก โดยอาศัยแรงสูดที่ช้า และลึก
- อุปกรณ์พ่นยาที่นำส่งยาในรูปแบบของผงแห้ง ละเอียดเล็ก มี 3 ชนิด คือ Easy haler®, Turbuhaler® และ Accuhaler ® การสูดยาตัวนี้จะสูดเข้าทางปาก โดยอาศัยแรงสูดที่ เร็ว แรง และลึก
- อุปกรณ์พ่นยาที่นำส่งยาในรูปแบบของผงแห้ง ละเอียดเล็ก ซึ่งบรรจุอยู่ในตัวแคปซูล มี 2 ชนิด คือ Beezhaler® และ Handihaler® ก่อนใช้อุปกรณ์จะต้องทำการบรรจุเม็ดแคปซูลยาลงในอุปกรณ์ และทำการกดที่อุปกรณ์เพื่อเจาะเม็ดแคปซูลยา จึงจะพร้อมสูดยาได้ การสูดยาตัวนี้จะสูดเข้าทางปาก โดยอาศัยแรงสูดที่ เร็ว แรง และลึก
- อุปกรณ์กักเก็บยา ใช้กรณีผู้ป่วยมีการหายใจไม่สัมพันธ์กับการกดอุปกรณ์พ่นยากับอุปกรณ์พ่นยาชนิด มี 2 ชนิด คือ AeroChamber® และ Spacer® อุปกรณ์นี้จะช่วยในการส่งยาเข้าสู่ปอดได้ง่ายขึ้น ทั่วไปมักมีลักษณะเป็นกระบอกแนวยาว หรือรูปกรวยโดยต่อตัวอุปกรณ์ช่วยเข้ากับอุปกรณ์พ่นยาในข้างต้นด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งอาจเป็นท่อให้ใช้ปากอมเพื่อสูดยา หรือมีลักษณะเป็นหน้ากากครอบจมูกและปาก อุปกรณ์กักเก็บยาชนิดที่เป็นหน้ากากให้ผู้ป่วยครอบหน้ากากบริเวณจมูกและปาก และหายใจตามปกตินาน 10-15 วินาที กรณีเด็กเล็กแนะนำให้หายใจเข้าออก 3-4 ครั้ง ต่อการกดยา 1 ครั้ง
วิธีการเบื้อนต้นสำหรับการ สูดยาผ่านอุปกรณ์พ่นยา
(ขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์พ่นยาอาจแตกต่างกันเล็กน้อย)
- เปิดฝาครอบอุปกรณ์ออก
- หายใจออกทางปากจนสุด ระวังอย่าให้ลมหายใจเข้าไปในตัวเครื่อง จากนั้นอมอุปกรณ์พ่นยาให้สนิท
- หายใจเข้าทางปาก นำกระบอกพ่นยาออกจากปาก กลั้นหายใจ 5-10 วินาที หายใจออกตามปกติ
- ทำความสะอาดปากอุปกรณ์ และปิดฝาให้สนิทหลังใช้งานเสร็จแล้ว
- บ้วนปากทุกครั้งหลังใช้ยา (กรณีที่ยาพ่นมีส่วนผสมของสเตียรอยด์) เพื่อป้องกันอาการเสียงแหบ คอแห้ง หรือการเกิดเชื้อราในช่องปาก
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำสั่งของแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาเภสัชกรทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยารักษาเอง เพราะยาพ่นบางชนิดอาจมีส่วนผสมของของสเตียรอยด์ ทั้งยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการเลือกให้ยาแก่ผู้ป่วยอีกหลายประการ เช่น โรคประจำตัว อายุของผู้ป่วย ประวัติแพ้ยาบางชนิด ฉะนั้นแล้ว การใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง จึงจะปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยอย่างสูงสุด
- Readers Rating
- Rated 4 stars
4 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating