5 อาการปวดไหล่ที่ควรรีบพบแพทย์?
อาการปวดไหล่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอาการปวดไหล่แบบเรื้อรังหรือเป็นมานานกว่า 4 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านข้อไหล่ เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด
- มีอาการปวดไหล่ขวาหรือปวดไหล่ซ้ายข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ติดต่อกันนานกว่า 1 เดือน และอาการไม่ดีขึ้นหรือปวดมากขึ้น
- ไม่สามารถยกแขนได้เกินระดับไหล่ มือไพล่หลังไม่ได้หรือมีอาการไหล่ติด
- ปวดมากเวลานอน จนตื่นกลางดึกหรือไม่สามารถนอนตะแคงข้างที่มีอาการได้
- หัวไหล่บวม
- มีเสียงเมื่อขยับแขน ร่วมกับอาการเจ็บและปวดไหล่
สาเหตุของอาการปวดไหล่
อาการปวดไหล่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งตามช่วงอายุได้ ดังนี้
อาการปวดไหล่ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย
ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุรถชน การเล่นกีฬา การกระแทกขอบโต๊ะหรือประตู รวมถึงการเคลื่อนไหวผิดท่าที่รุนแรง ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อไหล่อักเสบ เส้นเอ็นไหล่อักเสบหรือเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดได้ แต่ด้วยอายุที่น้อยทำให้การสมานตัวของร่างกายดีกว่าผู้สูงอายุ อาการปวดไหล่ส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ หรืออาจลดอาการปวดด้วยการรับประทานยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ แต่ถ้าอาการปวดไหล่ไม่ดีขึ้นใน 4 สัปดาห์ หรืออาการปวดรุนแรงกว่าเดิม จำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด
อาการปวดไหล่ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ
สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักมีอาการปวดไหล่จากภาวะข้อไหล่อักเสบ หรือไหล่ติด ซึ่งมีสาเหตุจากการใช้งานข้อไหล่มากเกินไปหรือใช้งานในท่าเดิมซ้ำ ๆ เช่น ตากผ้า เช็ดกระจก เป็นต้น อาจทำให้เกิดเส้นเอ็นไหล่อักเสบหรือเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดได้เช่นกัน
ดังนั้น ผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตัวเองและหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ เพื่อหลีกเลี่ยงและพักการใช้งานไหล่ แต่ถ้ามีอาการปวดไหล่แบบเรื้อรังหรือปวดมานานกว่า 1 เดือน ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง
การรักษาอาการปวดไหล่เรื้อรัง
ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ด้วยการกายภาพบำบัด ซึ่งสามารถทำเองได้ตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด อย่างเช่นการยืดกล้ามเนื้อในท่าต่าง ๆ หรือเข้ารับการกายภาพบำบัดด้วยเทคโนโลยีตามโปรแกรมที่แพทย์ออกแบบเฉพาะบุคคล เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมและตรงจุดมากที่สุด
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น เอ็นไหล่อักเสบหรือเอ็นไหล่ฉีกขาด จนทำให้เกิดอาการปวดไหล่รุนแรง แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยปัจจุบันจะใช้การการผ่าตัดผ่านกล้อง ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ลดภาวะแทรกซ้อนและพักฟื้นไม่นานก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
สำหรับการป้องกันอาการปวดไหล่ ควรเริ่มจากการออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้ออยู่เสมอ รวมถึงใช้งานแขนและไหล่ในท่าทางที่ถูกต้อง ไม่ใช้งานในท่าทางเดิมซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง รวมถึงไม่ยกของหนักมากเกินไป หากมีอาการปวดไหล่ควรพักการใช้งานจนกว่าอาการปวดจะหายไป นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการกระแทกรุนแรงบริเวณไหล่ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์โรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร: 02-734-0000 ต่อ 2298, 2299
- Readers Rating
- Rated 3.7 stars
3.7 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating