แน่นหน้าอก หนึ่งในสัญญาณโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ | โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ใจสั่น อาการของหลอดเลือดหัวใจตีบ

Share:

ใครกำลังรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก มีอาการแน่นหน้าอก หรือใจสั่น ไม่ควรประมาท เพราะ อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือด

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักพบในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ไตวาย โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน หรือผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รวมถึงผู้สูงอายุที่หลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพตามวัย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่

● มีความเครียดสะสม

● ไม่ออกกำลังกายและน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน

● รับประทานผักและผลไม้น้อยเกินไป

● มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

นายแพทย์เทิดพงศ์ ยิ่งวิลาศประเสริฐ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่าอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

  1. ระดับเริ่มต้น มักไม่แสดงอาการใด ๆ
  2. ระดับที่ 2 แสดงอาการเล็กน้อย เช่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก หรือหายใจไม่อิ่ม
  3. ระดับที่ 3 จะแสดงอาการมาก ไม่ว่าจะเป็นอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ใจสั่น วูบ หน้ามืดและหมดสติ

ดังนั้น หากมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ใจสั่น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาทันที

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

การตรวจวินิจฉัยโรคเลือดหัวใจตีบสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการซักประวัติหาความเสี่ยงของโรค การตรวจสุขภาพประจำปี แต่สำหรับผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอกเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือหน้ามืด แพทย์จะใช้การอัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiogram : ECHO) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)เอกซเรย์หัวใจ (Chest X-ray) และการเดินสายพาน (EST-Exercise Stress Test) และการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยวิธีการทำ CT Scan (CTA Coronary Artery) เพื่อหาอาการผิดปกติประกอบการวินิจฉัยโรคร่วมด้วย

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

สำหรับแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่มีอาการแบบไม่เฉียบพลัน คือมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เป็น ๆ หาย ๆ ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ แพทย์จะวางแผนการรักษาด้วยการใช้ยา แนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขยายหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูน หรือผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • กลุ่มที่มีอาการแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการ เจ็บแน่นหน้าอกร่วมกับเหนื่อยหอบ หน้ามืด เป็นลม หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น แพทย์จะรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจทันที

“ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน อาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น และเสี่ยงเสียชีวิตหากได้รับการช่วยเหลือช้า ดังนั้นเราควรสังเกตตัวเองหรือคนในครอบครัวว่ามีอาการเข้าข่ายโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ หากมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก หายใจไม่สะดวก และใจสั่น ควรรีบพบแพทย์ทันที 

ทั้งนี้ สามารถลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันหรือแคลอรีสูง อาหารเค็มหรือหวานจัด รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น งดสูบบุหรี่ ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญคือหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายและหัวใจ” นายแพทย์เทิดพงศ์กล่าว

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300, 5301

  • Readers Rating
  • Rated 3.4 stars
    3.4 / 5 (20 )
  • Your Rating