รักษา ออฟฟิศซินโดรม ด้วย "โบทูลินัม ท็อกซิน" - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

รักษา ออฟฟิศซินโดรม ด้วย “โบทูลินัม ท็อกซิน”

Share:

ออฟฟิศซินโดรม เป็นโรคที่พบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มคนช่วงอายุ 20 – 60 ปี ปัจจุบันสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin)

นพ.ภัทร โฆสานันท์ ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ – โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นโรคที่พบบ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานใช้แรงมากหรือผิดท่า และอยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ ต่อเนื่องวันละไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ตลอดจนปัจจัยเสริมอื่น ๆ เช่น การบ้างาน (Workaholic), ความเร่งรีบ, ความเครียด, อดอาหาร, อดนอน เป็นต้น จะมีโอกาสป่วยด้วยโรคดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วย 3 อาการ ดังนี้

  1. ปวดหลังเรื้อรัง ปวดตึงที่คอ บ่า และไหล่
  2. ไมเกรน หรือปวดศีรษะเรื้อรัง
  3. มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อค

โดยจะมีอาการปวดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อสะบัก ปวดจากจุดกดเจ็บหรือ Trigger Point ที่เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อสะบักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไปหากทิ้งไว้โดยไม่รีบรักษาอาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้

การรักษามีตั้งแต่การรับประทานยา ทำกายภาพบำบัด การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่ทางการแพทย์เริ่มเอามาใช้กับผู้ที่เป็นออฟฟิศซินโดรมในระยะเริ่มต้นที่มีการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ ซึ่งหากผู้ป่วยปล่อยอาการไว้นานโดยไม่รักษาโรคอาจรุนแรงขึ้นถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจจะต้องผ่าตัด

พญ. ชานิกา ทวีรุจจนะ แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม หรือ Skin & Aesthetic Center ระบุว่า การรักษาด้วยการฉีดโบทูลินุ่ม ท็อกซิน เป็นอีกทางเลือกในการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม โดยจะไปช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อ (Trigger Point) และเป็นตัวการของการปวดเรื้อรัง นอกจากนี้ยังทำให้ก้อนนูนบริเวณสะบักเล็กลง และยังช่วยปรับสัดส่วนคอให้เหมาะสม จากช่วงคอที่ดูสั้นให้เรียวระหงขึ้นรับกับกรอบหน้า

“การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมของคนไข้แต่ละรายจะแตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงของโรค บางครั้งแพทย์อาจเริ่มจากการฉีดน้ำเกลือที่มีผลเข้าไปคลายบริเวณกล้ามเนื้อก่อน หากยังไม่ได้ผลการรักษาเท่าที่ควรแพทย์จึงพิจารณาวิธีรักษาด้วยการฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน ซึ่งจะให้ผลในการรักษาประมาณ 4 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับการปรับท่าทางและการใช้งานกล้ามเนื้อที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องเข้ามาให้แพทย์ประเมินอาการเพื่อพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมก่อน”พญ. ชานิกา กล่าว

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5500

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (1 )
  • Your Rating