โรคลิ้นหัวใจรั่ว คือภาวะที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ขาดหรือมีรูรั่ว ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง เช่น จากเคยสูบฉีดเลือดไหลเวียนได้ 5 ลิตร แต่เกิดรั่วออกไป 2 ลิตร ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น โรคลิ้นหัวใจรั่วที่ยังเป็นไม่มากอาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อรุนแรงขึ้นอาจมีอาการเหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดเจ็บหน้าอก รู้สึกหัวใจเต้นผิดปกติคล้ายกับอาการใจสั่น มีอาการบวมน้ำที่เท้าและข้อเท้า
สาเหตุของการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว
โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในหลายช่วงอายุจึงมีสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น ในวัยเด็กมักมีสาเหตุมาจากหัวใจพิการแต่กำเนิด ในเด็กที่เติบโตและอาศัยอยู่ประเทศด้อยพัฒนามักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นโรคไข้รูมาติก ส่วนคนสูงวัยมักมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของร่างกายหรือการติดเชื้อ โดยโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา และการผ่าตัดลิ้นหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง
การผ่าตัดลิ้นหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจมีผลข้างเคียงน้อยเพราะเป็นการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจของผู้ป่วยเองให้กลับมาทำงานได้ปกติ ส่งผลให้อัตราการมีชีวิตยืนยาวและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังช่วยลดอาการลิ่มเลือดอุดตันในหัวใจ ลดอัตราเสี่ยงเลือดออกในร่างกายได้ดี และที่สำคัญคือไม่ต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดไปตลอดชีวิต ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ได้หลังการผ่าตัด
- การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจคือการนำลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปแทนที่ลิ้นหัวใจเดิมของผู้ป่วย ซึ่งลิ้นหัวใจเทียมที่นำมาใช้มีทั้งแบบโลหะและลิ้นหัวใจสัตว์ แต่การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจมีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ และต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิต
ปัจจุบันผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วสามารถรับการรักษาได้ด้วยการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ ซึ่งให้ผลการรักษาดี มีผลข้างเคียงน้อยและผู้ป่วยมีอัตราการมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ดังนั้นการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจจึงเป็นการรักษาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว
หลังจากผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจหรือผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้ว แพทย์จะยังคงติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าหัวใจจะกลับมาทำงานเป็นปกติโดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจหรือผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังสามารถออกกำลังกายได้ ควรออกกำลังกายตามความเหมาะสมเป็นประจำเพราะจะช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและไม่ให้หัวใจทำงานหนักจนเกินไป
โรคลิ้นหัวใจรั่ว สามารถวินิจฉัยและรักษาได้ หากสงสัยหรือพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร: 02-734-0000 ต่อ 5300, 5301
- Readers Rating
- Rated 4.2 stars
4.2 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating