โควิด19 Q&A ที่พบบ่อยช่วงกักตัวอยู่บ้านของเด็กๆในสถานการณ์ โควิด19 - Vejthani Hospital

บทความสุขภาพ

Q&A ที่พบบ่อยช่วงกักตัวอยู่บ้านของเด็กๆในสถานการณ์ โควิด19

Share:

วันนี้หมอได้รวบรวมคำถามที่คุณพ่อคุณแม่มักจะถามหมอบ่อยๆ ในภาวะที่ต้องกักตัวเด็กๆให้อยู่แต่ในบ้าน เพราะสถานการณ์โควิด จะมีคำถามอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ

คำถามที่1 สำหรับเด็กเล็ก อธิบายหรือบอกเค้ายังไงดีคะ ว่าทำไมต้องอยู่บ้าน

คำตอบ :  ***อ้างอิงตามคำแนะนำของ CDC (หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อของประเทศสหรัฐอเมริกา***

  • เริ่มต้นพ่อแม่ควรมีท่าทีไม่กังวล พูดคุยกับลูกอย่างสงบ ให้ความมั่นใจกับลูก พร้อมที่จะรับฟัง เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าว่ารู้สึกอย่างไร
  • พ่อแม่ควรแสดงความจริงใจ ตอบลูกตามความเป็นจริงเสมอ โดยพิจารณาตามวัยของลูกด้วย
  • พ่อแม่มีหน้าที่กรองข่าวและ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูก
  • ไม่ตำหนิหรือกล่าวโทษใคร ไวรัสสามารถทำให้ทุกคนเจ็บป่วยได้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเชื้อชาติไหน ไม่ดูถูกหรือแสดงท่าทีรังเกียจผู้ที่มีประวัติเสี่ยง
  • สอนลูกเรื่องของการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อในชีวิตประจำวัน ได้แก่
  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับบุคคลที่กำลังป่วย
  2. สอนลูกให้ไอหรือจามใส่กระดาษทิชชู่หรือข้อศอกของตัวเอง และทิ้งกระดาษทิชชู่ทันทีในถังขยะ
  3. สอนให้ลูกเข้าใจความสำคัญและมาตรการของโรงเรียนหรือชุมชน เช่น การล้างมือ การมีระยะห่างทางสังคม หรือการงดกิจกรรมบางอย่าง
  4. ฝึกให้ลูกล้างมือเป็นนิสัย โดยล้างกับสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที ถ้าไม่มีสบู่ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ (อย่างน้อยจะต้องมีแอลกอฮอล์ 70%)

คำถามที่2 ช่วงนี้เด็ก ๆ ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ไป รร. กิจกรรมนอกบ้านที่เคยได้ทำก็ถูกจำกัด จะมีผลเสียต่อพัฒนาการเด็กหรือไม่ อย่างไร

คำตอบ : 

ผลเสียโดยตรงคงไม่มี และต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้กระทบต่อเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะมันคือความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดกับชีวิต สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ สงบตัวเองให้ได้ก่อน ทำทุกอย่างให้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงเดิม หมอแนะนำให้มีตารางเวลาหรือกิจวัตรประจำวันที่ยืดหยุ่นแต่คงที่ รวมถึงมีเวลาคุณภาพกับเด็ก ๆ

คำถามที่3 จัดกิจกรรมให้ลูกอย่างไรดี ที่จะส่งเสริมพัฒนาการไปด้วย

คำตอบ :

  • วัยทารกหรือวัยเตาะแตะ เน้นการเล่นแบบใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น กอด นวด เล่นหรือร้องเพลงทำท่าให้เด็กเลียนแบบ อ่านนิทาน
  • เด็กเล็ก เน้นการเล่นสมมติ เพื่อต่อยอดจินตนาการ อ่านนิทาน พาออกไปกลางแจ้งบ้าง เช่น เดินเล่น, ปั่นจักรยาน, กิจกรรมเต้นรำร้องเพลง ฝึกให้เด็กช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านง่ายๆ
  • วัยรุ่น ให้เวลาในการพูดคุยแบบสบาย ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ลูกสนใจ รับฟังลูก ชวนกันเดินเล่น ออกกำลังกาย

คำถามที่4 ทำกิจกรรมกับลูกโดยใช้หน้าจอ เช่น เปิดคลิปสอนต่าง ๆ ได้หรือไม่

คำตอบ : 

ได้ แต่พ่อแม่ควรมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน และตกลงกันล่วงหน้า

คำถามที่5 ลูกต้องเรียนออนไลน์ จะติดจอหรือไม่

คำตอบ : 

ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ทั้งในเรื่องการจัดสรรเวลา กติกาการใช้หน้าจอ ที่สำคัญควรหาโอกาสให้ลูก ๆ ได้มีกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย

คำถามที่6 พออยู่บ้านนาน ๆ ลูกเริ่มงอแง ไม่ยอมกินข้าวเอง และต่อรองมากขึ้น แก้ไขอย่างไรดีคะ

คำตอบ :

  • ดูก่อนว่าเกิดจากอะไร สำรวจตัวเองหรือคนในบ้าน ว่ากังวลหรือเครียดมั้ย เพราะอารมณ์ของคนเลี้ยงดูมีผลต่อเด็ก
  • ควรมีกิจวัตรประจำวันที่ยืดหยุ่นและคงที่ เพื่อให้เด็กคาดเดาได้ว่าต่อไปต้องทำอะไร ไม่ยุ่งเหยิง
  • ยิ่งลูกงอแง เรายิ่งต้องหนักแน่น สิ่งไหนที่ลูกทำได้เราต้องยืนยัน เพียงแต่ต้องหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เช่น ลูกเหนื่อย ไม่สบาย หรือ ง่วง ฯลฯ
  • หาวิธีป้องกัน เช่น การให้ทางเลือกกับลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกว่ามีอำนาจตัดสินใจ ก็จะลดพฤติกรรมต่อรองได้บ้าง หรือบางอย่างถ้าพอยืดหยุ่นได้ควรประนีประนอมบ้าง เพื่อลดความเครียดทั้ง 2 ฝ่าย
  • อย่าลืมว่าการมีเวลาคุณภาพกับลูกเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ แล้วอะไรคือเวลาคุณภาพ พรุ่งนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังนะคะ

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating