ลูกวัยทารกเป็นช่วงที่ยังไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยได้ด้วยตัวเอง กระทั่งเด็กวัยเตาะแตะหรือเข้าเรียนแล้วการอธิบายว่ารู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายที่ใดบ้างก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี และเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ที่จะเข้าใจได้ถูกต้องเช่นกัน ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติ ก็ควรพาลูกน้อยมาพบคุณหมอค่ะ โชคดีอย่างหนึ่งของเด็กเล็กก็คือต้องมารับวัคซีนจึงมีโอกาสได้พบคุณหมอถึงแม้จะยังไม่มีอาการผิดปกติ และเป็นการลดความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ โดยทั่วไปช่วงอายุที่จะพาลูกน้อยมาตรวจตามนัดหรือฉีดวัคซีนมีดังนี้
1 เดือน > 2 เดือน > 4 เดือน > 6 เดือน > 9 เดือน > 12 เดือน > 15 เดือน > 18 เดือน > 2 ขวบ > หลัง 2 ขวบขึ้นไป
หลังจาก 2 ขวบขึ้นไป คุณหมอแนะนำให้ตรวจสุขภาพปีละครั้ง เพื่อความมั่นใจ ได้รับการประเมินการเจริญเติบโต พัฒนาการ และหากลูกน้อยเจ็บป่วยหรือมีความผิดปกติ จะสามารถรักษาหรือช่วยเหลือได้ทันท่วงที
Checklist 9 ข้อ : เมื่อตรวจร่างกายเด็ก ไม่ควรพลาด!
- การตรวจร่างกายเด็กทั่วไปและการเจริญเติบโต เช่น สัญญาณชีพ ได้แก่อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ การเจริญเติบโต ได้แก่น้ำหนัก ส่วนสูง และรอบศีรษะของทารกในช่วง 2 ปีแรก เนื่องจากเด็กมีการเจริญเติบโตและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
- ประเมินภาวะโภชนาการ สามารถตรวจได้ทั้งจากการเจริญเติบโต อัตราการเจริญเติบโต สัดส่วนร่างกาย คุณหมอจะซักประวัติเรื่องการรับประทานอาหารของลูกน้อยว่าเพียงพอหรือไม่และ อาจจะต้องมีการเจาะเลือดเพื่อช่วยในการประเมินและให้การรักษา
- ประเมินพัฒนาการด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เนื่องจากพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยได้รับการประเมินจากคุณหมอ หากลูกน้อยมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า หรือมีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง การได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ (ก่อนช่วงอายุ 3-6 ขวบ) ซึ่งสมองกำลังพัฒนาเต็มที่ จะสามารถทำการรักษาและช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงเด็กปกติได้ดีกว่า
- ตรวจสุขภาพในช่องปากและฟัน ลูกน้อยเพียง 1 ขวบหรือถ้าเริ่มมีฟันซี่แรก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพาไปหาทันตแพทย์สำหรับเด็กได้แล้ว เนื่องจากเด็กในวัยนี้ จะเริ่มมีฟันขึ้นและสามารถเคี้ยวอาหารด้วยตัวเองได้ การพาไปพบทันตแพทย์ คุณพ่อคุณแม่จะได้รับคำแนะนำดีๆ ในการดูแลสุขภาพปากและฟันรวมถึงป้องกันปัญหาฟันผุของลูกน้อยได้ด้วย
- ตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน การตรวจคัดกรองทั้งสองภาวะนี้ควรตรวจตั้งแต่แรกเกิด (ในช่วง 1-2 เดือนแรก) เนื่องจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และภาวะพร่องเอนไซม์ หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ช่วงแรกเกิด จะทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นการพลาดโอกาสที่น่าเสียดายมาก
- ตรวจคัดกรองภาวะซีดหรือภาวะการขาดธาตุเหล็ก เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด ในช่วงวัย 6-9 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องได้รับอาหารอื่นนอกเหนือจากนม และต้องมีการปรับตัวในการกินอาหาร จึงทำให้มีโอกาสได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือเหมาะสม และอาจขาดธาตุเหล็กซึ่งทำให้เกิดภาวะซีดได้
- ตรวจการได้ยิน เด็กควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากการได้ยินสัมพันธ์กับการพูด หากเด็กบกพร่องในการได้ยิน จะส่งผลให้มีปัญหาไม่พูดหรือพูดช้าตามไปด้วย หากหมอตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ เด็กจะได้ใส่เครื่องช่วยฟังหรือมีการแก้ไขด้วยวิธีการอื่นๆ ให้เขาสามารถพูดได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับเด็กปกติ
- ตรวจสายตา เด็กควรได้รับการตรวจสายตาก่อนเข้าโรงเรียนหรือประมาณ 4-5 ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่เด็กเริ่มให้ความร่วมมือในการตรวจแล้ว และเพื่อให้เด็กมีสายตาที่ดี พร้อมสำหรับการเรียนรู้ให้ทันเพื่อนๆ ที่โรงเรียน หากเด็กมีปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียง โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขก่อนช่วงนี้ อาจเกิดปัญหา “ตาขี้เกียจ” ส่งผลให้สายตาพิการตลอดชีวิตได้ นอกจากนี้ โรคทางสายตาอย่าง “มะเร็งจอประสาทตา” ก็เป็นโรคที่สามารถตรวจพบและอาจรักษาไม่ให้โรคลุกลามได้ในช่วงวัยทารก
- ตรวจปัสสาวะ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกน้อยตรวจปัสสาวะสักครั้งเมื่ออายุ 4 ขวบ เพื่อคัดกรองโรคไตตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่แสดงอาการป่วยในวัยเด็ก แต่ส่งผลระยะยาวกับลูก
การตรวจร่างกายเด็ก : เด็กยิ่งเสี่ยงยิ่งต้องตรวจ
อีกกรณีที่คุณหมอแนะนำให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น ในครอบครัวมีประวัติผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง เบาหวาน หรือความดัน ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อรับคำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ และอาจจะต้องมีการตรวจเลือดและร่างกายอย่างละเอียดเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพของผู้ใหญ่ หากตัวเด็กเองมีภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น แม้ว่าจะไม่ได้มีการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมในการตรวจร่างกายเด็กอย่างละเอียดแต่ควรปรึกษาคุณหมอเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยรุ่น
เด็กกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งคือ เด็กที่ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์ เช่น เด็กผู้หญิงมีเต้านมตั้งแต่ 8 ขวบ หรือเด็กผู้ชายอายุประมาณ 13-14 ปี แต่เสียงยังไม่แตก ยังไม่ฝันเปียก หรือยังไม่มีขนบริเวณหัวหน่าวและรักแร้ หากลูกมีลักษณะอาการเช่นนี้ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาและตรวจอายุกระดูกด้วยการเอ็กซเรย์
อย่างที่คุณหมอบอกว่าลูกน้อยของเราแตกต่างจากผู้ใหญ่ การตรวจร่างกายเด็กนอกจากจะเป็นการเฝ้าระวังแล้ว พ่อแม่ก็จะได้รับคำแนะนำไปด้วยว่า ลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร พ่อแม่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร หรือเรื่องของการเลี้ยงดูลูกว่า พัฒนาการแบบนี้ พฤติกรรมและพื้นอารมณ์แบบนี้ปกติหรือเปล่า หากละเลยไม่พาลูกไปตรวจอาจทำให้ลูกได้รับการช่วยเหลือล่าช้า จากโรคที่รักษาหรือช่วยบรรเทาเบาบางได้ อาจกลายเป็นโรคที่หมดโอกาสรักษาและกลายเป็นปัญหาของลูกน้อยไปตลอดชีวิตได้ค่ะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 3310
- Readers Rating
- Rated 4.9 stars
4.9 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating