ฝากครรภ์ เมื่อไหร่ ทำไมต้องฝากครรภ์ คุณแม่มือใหม่ต้องรู้ - Vejthani Hopital

บทความสุขภาพ

ฝากครรภ์ เมื่อไหร่ ทำไมต้องฝากครรภ์ คุณแม่มือใหม่ต้องรู้

Share:

ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายๆคน พอเริ่มรู้ตัวว่ากำลังมีอีกคนเข้ามาเติมเต็มชีวิตครอบครัว อาจจะเกิดคำถามในหัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทำไมจะต้อง ฝากครรภ์ จะต้อง ฝากครรภ์ เมื่อไหร่ดี จะไป ฝากครรภ์ ที่ไหนดี ฝากครรภ์ กับคุณหมออะไรดี และอีกนานาสาระพันที่อยู่ในหัวของว่าที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่

พญ.จิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ได้แนะนำว่าที่คุณแม่มือใหม่สำหรับการ ฝากครรภ์ ว่า การ ฝากครรภ์ ยิ่งเร็วจะยิ่งดีเพราะคุณแม่จะได้รับการยืนยันอายุครรภ์ที่แม่นยำ และทราบกำหนดคลอดที่แน่นอนถูกต้อง ยิ่งอายุครรภ์น้อยจะยิ่งแม่นยำมาก โดยการ ฝากครรภ์ คุณหมอก็จะมีการซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินภาวะความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้คุณแม่ได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและเหมาะสม

ทั้งนี้ หากคุณแม่มีโรคประจำตัวหรือกินยาประจำบางอย่าง การ ฝากครรภ์ เร็วคุณหมอจะทำให้ช่วยปรับยาให้ปลอดภัยระหว่างตั้งครรภ์ได้เร็วขึ้นตั้งแต่แรกเพื่อให้มีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ให้เป็นยาที่ควบคุมโรคระหว่างตั้งครรภ์ได้ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขณะตั้งครรภ์ หรือหากเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ คุณหมอจะได้ทราบและดูแลรักษาว่าที่คุณแม่ได้อย่างทันท่วงที ไม่ช้าเกินไปจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นต้น

สำหรับการตรวจในช่วง ฝากครรภ์ นั้น พญ.จิตรนพิน กล่าวว่าจะได้รับการตรวจตั้งแต่

  1. ตรวจร่างกาย เพื่อดูความผิดปกติของระบบต่างๆ ที่อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์
  2. อัลตราซาวด์ ในช่วงแรกเพื่อประเมินอายุครรภ์ว่าถูกต้องตรงกับประจำเดือนหรือไม่ / เป็นการตั้งครรภ์ปกติมีตัวอ่อนหรือไม่มี / ตั้งครรภ์ในหรือนอกมดลูก / เป็นครรภ์เดี่ยวหรือครรภ์แฝด / มีเนื้องอกมดลูกรังไข่ที่เป็นอยู่ก่อนหรือไม่ ดูความผิดปกติชนิดรุนแรงในไตรมาสแรกได้บางส่วน เมื่อเข้าไตรมาสที่2 ก็จะตรวจดูโครงสร้างและความพิการแต่กำเนิดบางชนิดของทารกต่อไป
  3. ตรวจเลือด ดูภาวะซีด พาหะธาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อต่างๆ ที่อาจถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ได้ และภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต้องมีขณะตั้งครรภ์ กรณีมีโรคประจำตัวก็จะมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมตามโรคที่เป็น
  4. ตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรมหรือ โครโมโซมผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม อาจต้องมีการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด (เจาะเนื้อรก /น้ำคร่ำ/เลือดสายสะดือทารกในครรภ์) กรณีสงสัยว่ามีความเสี่ยงหรือตรวจพบสิ่งบ่งชี้ที่ผิดปกติจากอัลตราซาวด์
  5. ตรวจประเมินการเจริญเติบโตของทารกเป็นระยะ รวมถึงตรวจคัดกรองเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ของมารดาและทารกขณะตั้งครรภ์ เช่น ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
  6. ได้รับการฉีดวัคซีนที่จำเป็นในอายุครรภ์ที่เหมาะสม
  7. กรณีตรวจพบทารกผิดปกติ จะได้เตรียมแผนการดูแลรักษาหลังคลอดที่เหมาะสม เนื่องจากบางภาวะต้องได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์เฉพาะทางหรือทารกต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินหลังคลอด ดังนั้นเหตุผลที่ว่าที่คุณแม่จะต้องรีบมา ฝากครรภ์ ก็เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ตั้งแต่เริ่มแรกนั่นเอง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 3200

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (6 )
  • Your Rating