พลิกวิกฤติ COVID-19 ให้เป็นโอกาสของพ่อแม่ ด้วยการหมั่นสังเกตพัฒนาการเด็กช่วงกักตัว - Vejthani

บทความสุขภาพ

พลิกวิกฤต COVID-19ให้เป็นโอกาสของพ่อแม่ ด้วยการหมั่นสังเกตพัฒนาการเด็กช่วงกักตัว

Share:

จากสถานการณ์ COVID -19 ส่งผลให้เด็ก ๆ ต้องกักตัวอยู่บ้านตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ในขณะที่พ่อแม่หลายท่านก็อาจจะต้องทำงานที่บ้านแทนการเดินทางไปที่ทำงาน เพราะฉะนั้นนี่ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่พ่อแม่จะได้มีเวลาใกล้ชิดและหมั่นสังเกตพัฒนาการของเด็ก ๆ ว่าเหมาะสมกับช่วงวัยของพวกเขาหรือไม่

แพทย์หญิงสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ในหลายครอบครัว พ่อแม่มักจะมีความคาดหวังว่าลูกต้องทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุด จนอาจละเลยการสังเกตไปว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร มีความสนใจหรือถนัดด้านไหน หรือแม้แต่เรื่องพัฒนาการของลูกว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของพวกเขาหรือไม่ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่พ่อแม่จะหมั่นสังเกตพัฒนาการและพฤติกรรมของลูกอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในด้านการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ด้านการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้านการสื่อสาร และด้านการช่วยเหลือตัวเอง

โดยในแต่ละช่วงวัย เด็กจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. ช่วงขวบปีแรก จะเน้นในเรื่องระบบประสาท การเคลื่อนไหวร่างกาย การขยับตัว เพราะฉะนั้นของเล่นที่เหมาะสมควรเป็นของเล่นที่มีปฏิกิริยาตอบสนองกลับ นอกจากนี้พ่อแม่เองก็มีส่วนสำคัญมาก ๆ ในช่วงวัยนี้ เพราะเป็นช่วงเชื่อมโยง ช่วงสร้างความไว้ใจกับคนเลี้ยงดู
  2. วัย 1 – 3 ปี เป็นวัยที่เด็กเริ่มเห่อพูด เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องสื่อสารกับลูกเยอะขึ้น มีการสอนแบบเชื่อมโยงคำศัพท์กับสิ่งที่เห็น โดยของเล่นที่เสริมพัฒนาการสำหรับเด็กวัยนี้ ควรเป็นของเล่นที่ฝึกกล้ามเนื้อมือและจินตนาการ เช่น ของเล่นหยอดรูปทรงหรือตัวต่อ เป็นต้น
  3. วัย 3 – 6 ปี เป็นวัยที่เด็กต้องไปโรงเรียน แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 อาจจะต้องเรียนออนไลน์โดยใช้หน้าจอเข้ามาช่วยมากขึ้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องกำหนดเวลาและช่วยวางแผนในเรื่องของกิจวัตรประจำวันเพื่อฝึกวินัย

ทั้งนี้ การที่เด็กเริ่มดูจอมากขึ้น อาจทำให้สัมพันธภาพระหว่างครอบครัวลดลง แต่ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ ด้วยการที่พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้จอของลูก และสอนเพิ่มเติมในสิ่งที่ลูกกำลังดูหรือให้ความสนใจ หรือการหากิจกรรมอื่น ๆ ให้ลูกได้มีส่วนร่วมและเสริมทักษะใหม่ ๆ  เช่น กิจกรรมอ่านหนังสือนิทานแทนการใช้จอเพื่อฝึกให้ลูกรักการอ่าน กิจกรรมทำสวน หรือ ทำอาหาร เป็นต้น

“ ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 พ่อแม่หลายคนอาจไม่อยากพาลูกออกไปนอกบ้าน เพราะกลัวการระบาดของเชื้อ แต่หมออยากแนะนำว่าลักษณะของกิจกรรมกลางแจ้งก็ยังสำคัญต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาส และเห็นว่าไม่ได้สุ่มเสี่ยงมาก ก็ควรให้โอกาสลูกได้ไปออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมที่ได้ออกแรงบ้าง ” พญ.สินดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่เริ่มสังเกตว่าลูกเริ่มมีพัฒนาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติจากวัยของเขา ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้ช่วยประเมินและกระตุ้นพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ แต่ละคนอย่างเหมาะสม

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 3310

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating