แพทย์เตือน COVID-19 ไวรัสร้ายที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้ว มีโอกาสเสียชีวิตสูง
แพทย์หญิงชาดา โชติพันธุ์วิทยากุล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า COVID-19 เป็นไวรัสที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปอดและระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความผิดปกติต่อหัวใจด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น โรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งพบว่าโดยทั่วไปแล้วการทำงานของหัวใจและระบบไหวเวียนเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าคนทั่วไป อีกทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ และมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอตามธรรมชาติของวัย ดังนั้นหากติดเชื้อ COVID-19 จะยิ่งทำให้โรคมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีการตรวจพบการอักเสบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เยื่อบุหลอดเลือดทั่วร่ายกาย ในผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งการอักเสบนี้จะทำให้การไหลเวียนเลือดบกพร่อง เซลล์และเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน จนทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้นและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น หัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดเฉียบพลันในหลอดเลือดหัวใจ ปอดอักเสบรุนแรงและภาวะระบบการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน นอกจากนี้ในระหว่างที่มีการติดเชื้อนี้จะทำให้การควบคุมโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิมทำได้ยากขึ้น และเกิดภาวะหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน
ในส่วนของผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว และแข็งแรงดีมาก่อนแต่ได้รับเชื้อ COVID-19 พบมีรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัสได้ โดยอาศัยการวินิจฉัยจากการตรวจพิเศษทางหัวใจเพิ่มเติม ซึ่งภาวะนี้จะทำให้การบีบตัวของหัวใจแย่ลง ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและน้ำท่วมปอดตามมา นอกจากนี้การใช้ยารักษา COVID-19 เองก็มีรายงานว่าทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจได้เช่นกัน พบว่าการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาต้านมาลาเรียอาจทำให้เกิดการนำกระแสไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ (QT Prolongation) ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่อายุน้อยและแข็งแรงดีมาก่อน
ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อ COVID-19 จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับเชื้อ COVID-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่รวมกันในที่แออัด รวมถึงรีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยง เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที
ด้านแพทย์หญิงสมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า โดยปกติแล้วผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทั่วไปง่ายกว่าคนปกติ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เพราะเชื้อเหล่านี้จะเจริญเติบโตได้ดีในภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและร่างกายมีภูมิคุ้มกันน้อยลง แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าผู้ป่วยเบาหวานจะมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
แต่พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับเชื้อ COVID-19 มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว โดยผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไทยที่เสียชีวิต มีประวัติเป็นโรคเบาหวานถึงร้อยละ 50 และมีอายุเพียง 30-40 ปีเท่านั้น เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไปจึงทำให้ร่างกายกำจัดไวรัสได้ยากและมีภาวะการอักเสบที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานยังมีระดับเอนไซม์โปรตีน ACE2 receptors สูงขึ้น เมื่อรับเชื้อไวรัสเข้าไปแล้วจะทำให้ผนังหลอดเลือดบางลง เกิดภาวะปอดบวม มีน้ำคั่งในถุงลม เป็นเหตุให้การหายใจล้มเหลวได้ง่าย และยังทำให้ผู้ป่วยบางรายท้องเสียร่วมด้วย
สำหรับในช่วงที่ COVID-19 ระบาด ผู้ป่วยเบาหวานควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- ป้องกันไม่ให้รับเชื้อ เช่น กินร้อน ช้อนเรา ล้างมือให้บ่อยที่สุดก่อนสัมผัสหน้าหรือรับประทานอาหาร ทั้งผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวควรหลีกเลี่ยงการพบปะหรืออยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด
- ดูแลสุขภาพให้พร้อมรับมือกับโรค เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ห้ามขาดยา โดยตรวจสอบปริมาณยาที่มีอยู่และติดต่อแพทย์เมื่อยาใกล้หมด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนและทำใจให้ไม่กังวลจนเกินไป เพราะความเครียดทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้
- เมื่อเจ็บป่วยต้องรีบพบแพทย์ อย่ากลัวที่จะไปโรงพยาบาลและอย่ารอจนอาการหนัก
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating