กลายเป็นความไม่มั่นใจของผู้หญิงหลาย ๆ คน เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาปัสสาวะเล็ด เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องน่าอายแล้ว ยังกระทบกับการใช้ชีวิตประจำที่อาจต้องงดกิจกรรมบางอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นอาการด้วย
นายแพทย์คมกฤช เอี่ยมจิรกุล สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านนรีเวชทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า สาเหตุหลักของปัสสาวะเล็ดเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ
- ผนังช่องคลอดด้านหน้าหย่อน ทำให้ไม่สามารถพยุงท่อปัสสาวะในขณะที่มีแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น เช่น การไอ จาม วิ่ง ออกกำลังกายหรือขณะที่ยกของหนัก ซึ่งส่วนใหญ่มักมีปัจจัยเสริมจากการคลอดบุตรทางช่องคลอด โดยเฉพาะการช่วยคลอดบุตรด้วยเครื่องดูดสุญญากาศหรือใช้คีม หรือคลอดบุตรที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดมากกว่า 3,500 กรัม มีโอกาสทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานฉีกขาดมากขึ้น
- หูรูดท่อปัสสาวะเสื่อม พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็นได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 40 ปลาย ๆ หรือวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนไปแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนมากกว่า 3-5 ปี หรือมีภาวะฮอร์โมนเพศหญิงพร่องก่อนวัยอันควร อาจทำให้ช่องคลอดฝ่อจนมีอาการปัสสาวะเล็ดได้เช่นกัน หรือหูรูดทางเดินปัสสาวะอาจเกิดจากการบาดเจ็บต่อท่อปัสสาวะโดยตรง หรือเคยขยายท่อปัสสาวะ หรือเคยคาสายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน
“ นอกจากปัจจัยหลักทั้ง 2 ข้อแล้ว ปัญหาปัสสาวะเล็ดยังสามารถเกิดได้จากการยกของหนักเป็นประจำ ไอเรื้อรัง น้ำหนักตัวเยอะ ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดแรงดันไปถึงท่อปัสสาวะ และทำให้มีปัสสาวะเล็ดได้ ในคนไข้บางรายแค่ลดน้ำหนักลง 5 – 10 กิโลกรัม ก็สามารถแก้ปัญหาปัสสาวะเล็ดได้แล้ว ที่สำคัญยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่สับสนระหว่างปัสสาวะเล็ดและปัสสาวะราด ซึ่งทั้ง 2 อาการนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยปัสสาวะเล็ดจะมีปัจจัยบางอย่างที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น ไอ จาม วิ่ง หัวเราะ กระโดด ออกกำลังกายในบางท่า จนทำให้ปัสสาวะเล็ดออกมา แต่ปัสสาวะราดคือการที่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เช่น เห็นห้องน้ำแล้วปวดปัสสาวะ ได้ยินเสียงน้ำไหลหรืออากาศเย็นก็ทำให้ปวดปัสสาวะ พอมีอาการปวดต้องรีบเข้าห้องน้ำเพราะกลัวจะไปไม่ทัน จึงเรียกว่าปัสสาวะราด ซึ่งปัสสาวะราดสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ยกเว้นในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือล้มเหลวจากการรักษาด้วยยา จึงจะพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่อาการปัสสาวะเล็ดไม่มียารักษา นอกจากการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นเวลาอย่างน้อง 3-6 เดือนอย่างสม่ำเสมอแล้วก็มีเพียงการรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งอาการปัสสาวะเล็ดนี้หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความมั่นใจและกระทบกับคุณภาพชีวิต เช่น ลดการออกงานสังคมหรือพบปะเพื่อนฝูง ต้องใส่แผ่นรองอนามัยตลอดเวลา ต้องหยุดออกกำลังกายในบางท่า หรือพยายามหัวเราะให้น้อยลง ” นายแพทย์คมกฤชกล่าว
การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ด ส่วนมากจะเป็นผ่าตัดใส่เทปคล้องท่อปัสสาวะ หรือ Urethral sling แต่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในภายหลัง แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำการผ่าตัดที่ยังไม่ต้องใส่อุปกรณ์เป็นอันดับแรก แต่ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของคนไข้แต่ละรายหรือปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมา เช่น เล็ดเป็นหยด เล็ดแฉะกางเกงชั้นในจนต้องเปลี่ยน เล็ดจนต้องใส่ผ้าอนามัย หรือเล็ดขณะมีเพศสัมพันธ์ หากเป็นในกรณีหลังแพทย์สามารถผ่าตัดแก้ไขปัญหาปัสสาวะเล็ดและผ่าตัดกระชับช่องคลอดส่วนหลังหรือรีแพร์ไปพร้อมกันได้เลย
สำหรับผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะราดที่ไม่รุนแรง สามารถแก้ไขได้ด้วยการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีผลต่อการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่น น้ำดื่มรสเปรี้ยว กาแฟ รวมทั้งเข้าห้องน้ำให้บ่อยขึ้นเพื่อลดปริมาณปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะจะมีความจุ 400 – 600 มิลลิลิตร เมื่อมีปริมาณปัสสาวะประมาณ 150 – 200 มิลลิลิตร จึงจะรู้สึกปวดปัสสาวะ ซึ่งคนทั่วไปสามารถกลั้นและรอจนเต็มกระเพาะปัสสาวะจึงไปเข้าห้องน้ำ แต่ในผู้ป่วยปัสสาวะราดอาจไม่สามารถกลั้นได้ นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำให้ฝึกขมิบช่องคลอดเพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง สามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ทำทุกวันสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปัสสาวะราด รวมทั้งยังช่วยให้ช่องคลอดกระชับขึ้นด้วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 5400
- Readers Rating
- Rated 4.4 stars
4.4 / 5 (Reviewers) - Outstanding
- Your Rating