ปวดคอ พบได้ในคนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะชาวOffice ส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มือพิมพ์แป้นพิมพ์ต่อเนื่องหลายชั่วโมง การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ เป็นสาเหตุของอาการปวดคอที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์บ่อยมาก อาจปวดแบบเป็นๆ หายๆ หรือปวดเรื้อรัง ถ้าอาการปวดมาจากกล้ามเนื้อจะไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรมาก แต่ถ้าปวดรุนแรงมากเพราะหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณกระดูกต้นคอเสื่อม แล้วเคลื่อนไปทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง อาการปวดชนิดนี้นับว่าเป็นอันตราย โดยสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มดังนี้
• กลุ่มที่มีอาการปวดคออย่างเดียว
ปวดมาถึงบ่าและสะบัก กลุ่มนี้ถึงแม้จะรักษาค่อนข้างง่าย แต่ก็เป็นอันตรายหรือภัยเงียบด้วยเช่นกัน เพราะผู้ป่วยคิดว่าไม่อันตรายจึงไม่มาพบแพทย์ แต่ความจริงแล้วควรมาพบแพทย์เพื่อแยกว่าเป็น Office Syndrome หรือหมอนรองกระดูกเสื่อม
• กลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับเส้นประสาท
มีอาการแสดงคือ ปวดร้าวลงแขนไปจนถึงมือร่วมกับอาการชา รายที่เป็นมากๆ อาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย เช่น ยกไหลไม่ขึ้น ขยับนิ้ว หรือกระดกข้อมือไม่ขึ้น นอกจากนี้ หากมีการกดทับเส้นประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับส่วนใด จะส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นลีบลงด้วย บางครั้งอาจลีบถาวร ถึงแม้จะทำการผ่าตัดแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้เมื่อทำการรักษาโอกาสหายมีมากกว่ากลุ่มที่หมอนรองกระดูกเสื่อมที่ไปกดทับไขสันหลัง
• กลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง
กลุ่มนี้จะมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน ทำให้กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักจะเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยอาจมีประวัติปวดคอเรื้อรัง ร่วมกับปวดลงแขนหรือลงขา หรือมีอาการชาร่วมด้วย ไปจนถึงมีอาการอ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อบางส่วนเจ็บ กล้ามเนื้อมือลีบ หยิบจับของเล็กๆ หรือใช้มือทำงานที่ละเอียด เช่น กลัดกระดุม ผูกเชือกรองเท้าไม่ถนัด ตลอดจนมีอาการของการเดินเซ สูญเสียการทรงตัวที่ดีไป อาจมีอาการจนถึงขั้นควบคุมระบบการขับถ่ายได้ลำบาก
ในอดีตกลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง จะทำการรักษาค่อนข้างลำบากและมีความเสี่ยงสูง เพราะระยะห่างระหว่างไขสันหลังกับหมอนรองกระดูก หรือหมอนรองกระดูกกับเส้นประสาทห่างกันน้อยมาก บางรายเบียดชิดเส้นประสาท หรือห่างไม่ถึงมิลลิเมตร แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำและปลอดภัย นั่นคือกล้อง MICROSCOPE ที่ทำให้สามารถมองเห็นเส้นประสาทได้ชัด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไว และลดความเสี่ยงในการผ่าตัดลงได้มาก
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดนั่น คือ Intraoperative Neuromonitoring ที่จะช่วยตรวจสอบการทำงานของเส้นประสาทแบบ Real Time ทำให้การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทของผู้ป่วยขณะผ่าตัดน้อยลง จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 5500
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating