ควบคุมอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า เสียการทรงตัว จากโรคพาร์กินสันได้ แม้จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายแต่สามารถควบคุมอาการได้ หากพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคพาร์กินสันเร็ว
แพทย์หญิงณัฎลดา ลิโมทัย อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคของความเสื่อมของสมองที่พบบ่อยเป็นอันดับสองรองจากโรคอัลซไฮเมอร์ (Alzheimer’s disease) ส่วนใหญ่พบในคนสูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โรคพาร์กินสันพรือพาร์กินสันแท้เป็นโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสมอง บริเวณก้านสมองในส่วนสับสแตนเชียไนกรา ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทโดพามีน มีส่วนช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหว อารมณ์และพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อสมองส่วนนี้เสื่อมจึงทำให้การเคลื่อนไหวมีความผิดปกติ มีปัญหาในเรื่องอารมณ์และพฤติกรรมได้ โดยสาเหตุของโรคยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่บางส่วนพบเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม มักพบในผู้ป่วยอายุน้อยหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสัน หรือปัจจัยจากการได้รับยากำจัดวัชพืชหรือสารเคมีบางชนิดเป็นเวลานาน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการป่วยด้วยโรคได้
“โรคพาร์กินสันหรือพาร์กินสันแท้ต้องวินิจฉัยแยกโรคกับพาร์กินสันเทียม โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายคลึงกันแต่แตกต่างกันที่สาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งสาเหตุของพาร์กินสันเทียมที่พบบ่อยคือการใช้ยาในกลุ่มจิตเวชหรือยาเกี่ยวกับอาการเวียนศีรษะ รวมถึงโรคสมองบางอย่าง เช่น น้ำคั่งในโพรงสมองหรือเส้นเลือดฝอยในสมองตีบ เป็นต้น อาการของผู้ป่วยทั้งพาร์กินสันแท้และเทียมมักเริ่มจากเคลื่อนไหวช้า อาการสั่น กล้ามเนื้อเกร็ง การทรงตัวและการเดินผิดปกติเป็นสาเหตุให้หกล้มบ่อย ซึ่งการหกล้มบ่อยอาจนำไปสู่การบาดเจ็บอื่น ๆ จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ เบื้องต้นอาการอาจจะเริ่มเป็นข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วเพิ่มเป็น 2 ข้างเมื่ออาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการหน้านิ่ง พูดช้า เสียงเบา น้ำลายไหล ท้องผูก ซึมเศร้า กังวล หรือมีอาการทางจิตอื่น ๆ ตลอดจนมีปัญหาเรื่องการนอนหลับร่วมด้วย” แพทย์หญิงณัฎลดากล่าว
สำหรับการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน ได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายทางระบบประสาทเป็นหลัก ในกรณีที่วินิจฉัยยังไม่แน่ชัด การตรวจด้วยภาพรังสีพิเศษในระบบโดพามีนในสมอง (F-18 FDOPA PET หรือ Dopamine transporter SPECT) อาจช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องทำทุกราย ส่วนการรักษาโรคพาร์กินสันนั้น ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาใดที่ทำให้หายขาด แต่จะรักษาตามอาการและพยุงอาการของผู้ป่วยเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการเพิ่มสารโดพามีนในสมอง ทั้งในรูปแบบของยารับประทาน ยาฉีด และแผ่นแปะ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายและการวางแผนรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และเมื่ออาการของโรคเป็นมากขึ้น เริ่มมีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแล้ว แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นประสาทส่วนลึก(Deep Brain Stimulation) โดยใช้กระแสไฟฟ้าควบคุมวงจรการทำงานของสมอง สามารถช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมการเคลื่อนไหวและทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น
จากข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบัน พบว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทั้งการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหรือการฝึกหัดการเดินและทรงตัวให้ถูกต้อง จะช่วยควบคุมอาการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้นและยังอาจช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองได้ด้วย นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น การอยู่ใกล้สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และหมั่นสังเกตตัวเองและคนในครอบครัว หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที ก็เป็นวิธีห่างไกลจากโรคพาร์กินสันได้เช่นเดียวกัน
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์สมอง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 5400
- Readers Rating
- Rated 3.4 stars
3.4 / 5 (Reviewers) - Very Good
- Your Rating