ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่ต้องกินยาตลอดชีวิต ด้วยเทคโนโลยีสวนและจี้ไฟฟ้าหัวใจ
นายแพทย์ปริวัตร เพ็งแก้ว อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmias) คือภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ อาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันสมองหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยภาวะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- ภาวะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว เช่น ภาวะ SVT (Supraventricular Tachycardia) ,Wolf Parkinson White syndrome (WPW) ,Atrial Tachycardia ,Atrial Flutter และ Atrial Fibrillation ซึ่งเกิดจากการมีเส้นทางลัดหรือจุดผิดปกติในทางเดินไฟฟ้าหัวใจห้องบน ส่วนภาวะ VT (Ventricular Tachycardia) ,PVC (Premature Ventricular Contraction) เกิดจากมีเส้นทางเดินหรือจุดผิดปกติในหัวใจห้องล่าง
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้า เช่น กลุ่ม Heart Block (AV Block) คือหัวใจห้องบนกับห้องล่างเต้นไม่สัมพันธ์กัน หรือกลุ่ม Sick Sinus syndrome ที่หัวใจห้องบนไม่เต้นหรือเต้นช้ามากผิดปกติ
“ใจสั่น หัวใจเต้นแรง หายใจเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด ตาลาย เป็นลมหมดสติ เป็นอาการเบื้องต้นของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ผู้ป่วยหลายรายไม่รีบมาพบแพทย์แล้วปล่อยทิ้งไว้จนรบกวนการใช้ชีวิตและการทำงาน หรือปล่อยทิ้งไว้จนมีอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยง่ายจนหัวใจล้มเหลว หมดสติ ลิ่มเลือดไปอุดตันสมองกลายเป็นอัมพาต ไปจนถึงเสียชีวิต” นายแพทย์ปริวัตรกล่าว
สำหรับการวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG) ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา 24 ชั่วโมง (24 hour Holter Monitoring) หรืออาจต้องใช้วิธีการตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจด้วยการสวนหัวใจ (Electrophysiologic study) ซึ่งการจะตรวจด้วยวิธีไหนขึ้นอยู่กับชนิดและความถี่ของอาการที่ผู้ป่วยเป็น
ส่วนการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาควบคุมอาการ ซึ่งต้องรับประทานไปตลอดชีวิต แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีรักษาด้วยการสวนและจี้ไฟฟ้าหัวใจ (EP study with Radiofrequency ablation) โดยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจตรงจุดที่มีปัญหา ซึ่งมีโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยละ 95 – 98 โดยไม่ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต ส่วนผู้ป่วยที่หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิด VT และ Fibrillation บางกลุ่ม ในรายที่จี้ไฟฟ้าไม่ได้จะให้การรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (AICD) สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้าจะให้การรักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพและหัวใจล้มเหลว ก็สามารถรักษาได้โดยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิด 3 ห้อง (CRT) ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะควรเข้ามาพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีในการักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุด ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 5300
- Readers Rating
- Rated 3.8 stars
3.8 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating