ปัสสาวะออกน้อย ขาบวม หนังตาบวม อาการของโรคไตวายเฉียบพลัน อาจหายขาดได้หากมาพบแพทย์ภายใน 3 เดือนหลังมีอาการ
แพทย์หญิงอำไพวรรณ รุ่งบรรณพันธุ์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคไตวาย (Kidney Failure หรือ Renal Failure) คือการที่ไตทั้งสองข้างสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียและขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง
ไตวายเฉียบพลัน คือการที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเป็นวันถึงสัปดาห์ ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะออกน้อยลง ซึ่งในกรณีรุนแรงจะออกน้อยกว่า 500 มิลลิลิตรต่อวัน รวมทั้งอาจมีปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีฟองคล้ายฟองสบู่ สีขุ่นหรือสีแดงคล้ายน้ำล้างเนื้อ ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ บวมบริเวณใบหน้าหรือหนังตาทั้ง 2 ข้างหลังตื่นนอน ซึ่งมักจะค่อย ๆ ยุบลงในช่วงบ่าย พร้อมกับไปบวมกดบุ๋มที่ขาทั้ง 2 ข้างแทน โดยมีข้อสังเกตง่าย ๆ คือการบวมจากไตวายจะไม่มีอาการปวด แดงหรือร้อนร่วมด้วย เพราะการบวมนี้เกิดจากการคั่งของน้ำและเกลือโซเดียมในร่างกาย ไม่ได้เกิดจากการอักเสบของข้อหรือผิวหนัง สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน ได้แก่ ภาวะช็อคจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น หัวใจล้มเหลว ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือการที่ร่างกายสูญเสียสารน้ำปริมาณมาก เช่น การตกเลือด ท้องเสียหรืออาเจียนอย่างรุนแรง หรือเป็นโรคไตอักเสบเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการได้รับยาที่มีผลเสียต่อไต ที่พบบ่อยคือยาชุดแก้ปวด ยาสมุนไพร เช่น ตะไครเครือ เห็ดหลินจือ ปอกะบิด ตลอดจนอาหารบางชนิด หากบริโภคมากอาจทำให้ไตวายได้ เช่น ลูกเนียงดิบ น้ำมะเฟือง ผักปวยเล้ง โกฐน้ำเต้า ตะลิงปลิง แครนเบอรี่ เป็นต้น
ในขณะที่ไตวายเรื้อรังเป็นภาวะที่ไตทั้งสองข้างทำงานเสื่อมลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตรวจพบไตทำงานเสื่อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งการที่ไตเสื่อมลงช้า ๆ นี้ทำให้อาการแสดงในช่วงแรกไม่เด่นชัดเหมือนไตวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ล่าช้าทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยอาการที่ต้องสงสัยว่าอาจมีภาวะไตวายเรื้อรังคือ อ่อนเพลีย ซีดลง เบื่ออาหาร คันตามตัว ผิวแห้ง ปัสสาวะกลางคืนบ่อย หรือเกิน 2 ครั้งต่อคืน โดยถ้าเป็นรุนแรงแล้วจะมีอาการคล้ายภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วย
“ภาวะไตวายเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเนื้อเยื่อไตเสียหายเป็นเวลานานจนเกิดพังผืดในไต คล้ายแผลเป็นจำนวนมาก การรักษาจึงทำได้แค่เพียงชะลอการเสื่อมของไตให้เข้าสู่ระยะที่ต้องฟอกไตให้ช้าที่สุด ในขณะที่ไตวายเฉียบพลันอาจสามารถรักษาให้หายขาดและฟี้นฟูการทำงานของไตให้กลับเป็นปกติได้ หากมาพบแพทย์โดยเร็วหรืออย่างช้าไม่เกิน 3 เดือนหลังเริ่มมีอาการ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เกิน 3 เดือน โดยไม่ได้รับการรักษาก็จะกลายเป็นโรคไตเรื้อรังได้เช่นกัน” แพทย์หญิงอำไพวรรณ กล่าว
สำหรับการวินิฉัยภาวะไตวาย แพทย์จะใช้การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อประเมินว่าเป็นไตวายชนิดไหน และมีระดับการทำงานของไตเหลืออยู่เท่าไหร่ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาหากเข้าสู่ภาวะไตเสื่อมระยะสุดท้ายแล้ว แพทย์จะพิจารณาบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือการล้างไตทางช่องท้อง โดยจะต้องเปลี่ยนน้ำยา 4 ครั้งต่อวัน ทั้ง 2 วิธีผู้ป่วยจะต้องทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิตเพราะยังไม่มีการรักษาที่สามารถทำให้ไตที่เสียหายกลับมาทำงานได้เป็นปกติ แต่หากได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพื่อทดแทนไตเดิมก็สามารถหยุดฟอกไตได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีชีวิตยืนยาวกว่าการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีอื่นอีกด้วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5021
- Readers Rating
- Rated 4 stars
4 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating