สัญญาณอันตรายจาก Smart Watch เชื่อถือได้จริงหรือไม่ ? - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

สัญญาณอันตรายจาก Smart Watch เชื่อถือได้จริงหรือไม่ ?

Share:

Smart Watch หรือ นาฬิกาอัจฉริยะ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรักสุขภาพ เพราะนอกเหนือจากการบอกเวลา ยังมีลูกเล่นอื่น ๆ มากมาย เช่น การตรวจคุณภาพการนอน นับระยะก้าวหรือระยะการเดิน – วิ่งในแต่ละวัน อัตราการเผาผลาญแคลอรี่ของร่างกาย ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจด้วยการจับชีพจร นอกจากนี้บางรุ่นยังสามารถตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด Single Lead (Single Lead Electrocardiography) ได้ด้วย ทำให้หลาย ๆ คนคาดหวังว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะมาช่วยในการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial Fibrillation) ซึ่งเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยและเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดสมองอุดตัน

อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์ประเภทนี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ ข้อมูลงานวิจัยยังไม่มากพอและยังมีความขัดแย้งกันอยู่ นอกจากนี้อาจเกิดภาวะผลบวกลวง (False Positive) ทำให้แปลผลผิดพลาด นำไปสู่การรักษาเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นหรือเกิดโทษได้

ล่าสุด ยุโรปได้ออกคำแนะนำแนวทางการดูแลรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นพลิ้วว่า “คนที่สงสัยภาวะหัวใจห้องบนเต้นพลิ้วจากอุปกรณ์ Smart Watch หรือ Wearable Device ต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับการตรวจยืนยันโดยแพทย์เฉพาะทาง ด้วยการทำ Single lead ECG อย่างน้อย 30 วินาที หรือจากการทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด 12 lead จึงจะสามารถยืนยันการวินิจฉัยได้”

ดังนั้นอุปกรณ์เหล่านี้น่าจะมีประโยชน์ในการให้ผู้สวมใส่สังเกตความผิดปกติของตัวเอง เป็นการคัดกรอง “เบื้องต้น” เท่านั้น และควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางในการแปลผลอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะวินิจฉัยหรือวางแนวทางการรักษาต่อไปในอนาคต

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-2734 0000 ต่อ 5300

  • Readers Rating
  • Rated 4 stars
    4 / 5 (4 )
  • Your Rating