ภาวะโรคอ้วนในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนพฤติกรรมของคนไทยในการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือโรคนิ่วในถุงน้ำดี ปัจจุบันการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีเป็นวิธีการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจลุกลามไปถึงขั้นเสียชีวิต
นายแพทย์รพีพัฒน์ ถนอมเพ็ชรสง่า ศัลยแพทย์ชำนาญการพิเศษผ่าตัดส่องกล้องตับ ตับอ่อน ทางเดินน้ำดี โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีว่า นิ่วในถุงน้ำดีนั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยเเละมีรายงานอุบัติการณ์พบเจอได้ถึง 10-15% ของประชากร ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เเต่อาจจะเกิดปัญหาที่ต้องได้รับการผ่าตัดได้ถึง 20% ในผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดีเมื่อรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน ถุงน้ำดีที่ตับจะบีบตัวขับน้ำดีออกมาเพื่อช่วยย่อยไขมัน เพื่อให้ไขมันแตกตัวจับกับน้ำย่อยเเละถูกดูดซึมตามระบบย่อยอาหารของร่างกาย โดยน้ำดีจะถูกผลิตมาจากตับและเก็บไว้ในถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นพร้อมย่อยอาหาร ซึ่งในน้ำดีมีส่วนประกอบหลายอย่าง หากองค์ประกอบของน้ำดีมีความไม่สมดุล ประกอบกับรับประทานอาหารที่มีไขมันปริมาณมาก ทำให้คอเลสเตอรอลเคลื่อนที่ไปในถุงน้ำดีมากขึ้นจะทำให้มีโอกาสเกิดการตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดีได้สูง ปัญหาที่ตามมาหลังจากเกิดก้อนนิ่ว ก็คือ “นิ่วในถุงน้ำดี” อาจจะทำให้มีอาการปวดจุกเเน่นท้องรุนแรง อาจจะเกิดภาวะตาเหลือง ตัวเหลือง หรือมีภาวะช็อกจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากก้อนนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดตันตามส่วนต่าง ๆ ได้แก่
- นิ่วอุดตันบริเวณปากถุงน้ำดี มีความเสี่ยงเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบ ทั้งชนิดอักเสบไม่รุนแรง และชนิดอักเสบรุนแรงมากถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี มีโรคประจำตัว หรือมีอายุที่มากขึ้น
- นิ่วอุดตันบริเวณท่อน้ำดี ทำให้น้ำดีไม่สามารถไหลลงมาที่ลำไส้ แต่ไหลย้อนกลับไปที่ตับ จะส่งผลให้เกิดภาวะตาเหลือง ตัวเหลืองหรือท่อน้ำดีอักเสบได้
- นิ่วอุดตันบริเวณปลายท่อน้ำดี มีความเสี่ยงเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ เนื่องจากอยู่ใกล้กับท่อตับอ่อนที่มีหน้าที่ขับน้ำย่อยออกมา ทำให้น้ำย่อยออกไม่ได้และไหลย้อนกลับไปที่เนื้อของตับอ่อน มีหลายระดับความรุนแรง หากอักเสบรุนแรงมาก อาจเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้
อาการที่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี(symptomatic gallstone) ได้เเก่ ปวดจุกเเน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา โดยเฉพาะหลังจากกรับประทานอาหาร บางครั้งอาจปวดร้าวที่สะบักขวา ซึ่งจะมีอาการปวดประมาณ2-3 ชั่วโมง อาการเหล่านี้เป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีและยังมีข้อบ่งชี้อื่น ๆ อีก เช่น นิ่วในถุงน้ำดีมีขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 ซม. ตรวจพบติ่งเนื้องอกในถุงน้ำดีร่วมกับนิ่วในถุงน้ำดี หรือเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคเลือดบางชนิด ควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนิ่วในถุงน้ำดีอย่างตรงจุด หรือการรักษาโรคกระเพาะอาหารที่มีอาการปวดท้องแต่ได้รับยาเเล้วไม่ดีขึ้น ควรมาตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนเพื่อค้นหาภาวะนิ่วในถุงน้ำดีร่วมด้วย
คนส่วนใหญ่ มักคิดว่าการรักษานิ่วในถุงน้ำดีสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา หรือยิงคลื่นเสียงในการสลายนิ่ว แต่ในความเป็นจริงการรักษานิ่วในถุงน้ำดีที่เป็นวิธีเฉพาะเจาะจงและได้ผลดีที่สุดกับโรคนี้ คือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกด้วยวิธีการส่องกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy หรือเรียกสั้นๆว่า LC ) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกนั้น น้ำดียังคงถูกผลิตมาจากตับเช่นเดิม อาจมีอาการอืดเเน่นท้องในช่วงเ1-2 อาทิตย์แรกหลังการผ่าตัดได้ถ้ากินอาหารปริมาณมาก หรือรับประทานอาหารเร็วเกินไป เเต่อาการเหล่านี้ร่างกายจะปรับสมดุลกลับเป็นปกติได้ภายใน 1-2 เดือน
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีหลายวิธี ได้แก่
1.การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดที่เจาะแผลเล็ก ๆ ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ผ่านหน้าท้อง 3-4 จุด บริเวณสะดือและใต้ชายโครงด้านขวา เพื่อสอดอุปกรณ์ และกล้องความละเอียดสูงเข้าไปตัดเลาะถุงน้ำดีออก ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้จะให้ผลเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แต่จะใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่ามาก เกิดภาวะเเทรกซ้อนน้อยกว่า นอนโรงพยาบาลประมาณ 2 – 3 วัน กลับไปใช้ชีวิตได้เร็วกว่าซึ่งเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน
ข้อจำกัดของการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง ผู้ป่วยที่มีภาวะถุงน้ำดีอักเสบรุนเเรงมีการรั่วซึมของน้ำดีกระจายไปในช่องท้อง ผู้ป่วยเป็นโรคปอดและโรคหัวใจขั้นรุนแรงจนไม่สามารถใส่เเก๊สคาบอนไดออกไซด์ในช่องท้องเพื่อใช้วิธีส่องกล้องผ่าตัดได้ หรือคนที่เคยผ่าตัดบริเวณช่องท้องส่วนบนมาก่อน มีพังผืดเเน่นหนาในช่องท้องมาก อาจจะไม่สามารถใส่เครื่องมือผ่าตัดส่องกล้องได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเกิน 7 วัน โอกาสสำเร็จที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องอาจจะลดลง ทั้งนี้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ควรจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดส่องกล้องตับ ตับอ่อนเเละทางเดินน้ำดีโดยเฉพาะ
2.การผ่าตัดแบบเปิด เป็นวิธีการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนิ่วในถุงน้ำดีอักเสบรุนเเรงหรือมีภาวะเป็นหนอง ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการส่องกล้องได้ การผ่าตัดวิธีนี้จะเปิดช่องท้องบริเวณใต้ชายโครงด้านขวาขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 7-14 วัน
ข้อจำกัดของวิธีการผ่าตัดแบบเปิด คือ ปวดเเผลมากกว่าเเละใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าวิธีผ่าตัดส่องกล้อง มีอุบัติการณ์การเกิดเเผลอักเสบติดเชื้อ การเกิดไส้เลื่อนผนังหน้าท้องหลังผ่าตัดสูงกว่าวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง อาจจะเสียเลือดมาก และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การฉีกขาดของหลอดเลือด ภาวะหัวใจเต้นช้า หรือเสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อท่อน้ำดีใหญ่สูงขึ้น
3.การผ่าตัดส่องกล้องแบบ Single Port ซึ่งเป็นการผ่าตัดส่องกล้องรูเดียว คนไข้จะมีแผลที่สะดือ เพียงตำแหน่งเดียว จำนวนแผลจะน้อยลงกว่าการส่องกล้องปกติ 2-3 แผล
ข้อจำกัดของการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบ Single Port มุมมองในการผ่าตัดถุงน้ำดีจะยากกว่า อาจจะทำได้ยากในรายที่มีการอักเสบเรื้อรังหรือมีการผังผืดติดเเน่นบริเวณขั้วถุงน้ำดี มีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บต่อท่อน้ำดีใหญ่ได้มากกว่า การเกิดไส้เลื่อนผนังหน้าท้องสูงกว่าเนื่องจากเเผลที่สอดอุปกรณ์ผ่าตัดจะใหญ่กว่าปกติ ในปัจจุบันเทคนิคนี้มีความนิยมลดลงในสถาบันต่างๆ
“ปัจจุบันการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีการส่องกล้อง มีความปลอดภัยสูง มีระยะฟื้นตัวดีมาก สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วมากขึ้น เนื่องมาจากการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัด มีวัสดุอุปกรณ์ในการหยุดเลือดผ่าตัดที่ปลอดภัยเชื่อถือได้ กล้องผ่าตัดที่เห็นชัดระดับ 4K และสิ่งสำคัญยคือประสบการณ์ ฝีมือเเละความชำนาญของศัลยเเพทย์ผ่าตัดส่องกล้องตับ ตับอ่อนทางเดินน้ำดี” นายแพทย์รพีพัฒน์กล่าว
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 4500 , 4501
- Readers Rating
- Rated 4 stars
4 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating