"ปวดสะบัก ยกแขนไม่ขึ้น" สัญญาณของข้อไหล่ติด | โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

วิธีบรรเทาอาการปวดสะบัก ยกแขนไม่ขึ้น

Share:

ปวดสะบัก ยกแขนไม่ขึ้นรักษาได้ที่เวชธานี

ปวดสะบัก ยกแขนไม่ขึ้น เคลื่อนไหวข้อไหล่ได้น้อยหรือไม่ได้เลย อาจเป็นสัญญาณของโรคข้อไหล่ติด หากปล่อยไว้และไม่รีบรักษาอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

สาเหตุของอาการข้อไหล่ติด

อาการปวดสะบัก ยกแขนไม่ขึ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคข้อไหล่ติด ควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันอาการปวดเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาว

สาเหตุของข้อไหล่ติดเกิดจากช่องในข้อไหล่แคบลง เพราะเยื่อหุ้มและแคปซูลในข้อไหล่หนาตัวเป็นพังผืดและตึงขึ้นทำให้ข้อไหล่ขยับได้น้อยลง หลายคนมีอาการปวดสะบักและยกแขนไม่ขึ้นร่วมด้วย ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้ด้วยการยกแขนขึ้นให้สุดโดยที่ใบหน้าและลำคอตั้งตรง หากแขนไม่สามารถแนบหูได้ ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคข้อไหล่ติด 

อาการปวดสะบัก ยกแขนไม่ขึ้นจะพบบ่อยในวัยกลางคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่ต้องใส่อุปกรณ์สะพายไหล่เป็นเวลานาน รวมถึงคนที่ต้องอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานานหลังจากได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัดบริเวณข้อไหล่ เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยผ่าตัดก้อนเนื้อเต้านม นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ เบาหวาน พาร์กินสัน หัวใจและหลอดเลือด ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

ข้อไหล่ติดแบ่งเป็น 3 ระยะ

  • ระยะอักเสบ : ปวดสะบักและตึงทั่วข้อไหล่แม้ยกไหล่เพียงนิดเดียว แต่อาจยังไม่ถึงขั้นยกแขนไม่ขึ้น และจะปวดมากในเวลากลางคืนหรือขณะนอนทับหัวไหล่ด้านที่มีปัญหา ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 – 9 เดือน สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาลดการอักเสบและปวด ฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และกายภาพบำบัด พร้อมกับพักการใช้งานแขน จะช่วยลดอาการปวดลงได้
  • ระยะข้อยึดติด : อาการปวดสะบักและบริเวณข้อไหล่ดีขึ้น แต่จะเริ่มยกแขนไม่ขึ้น การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลงอย่างชัดเจน มีปัญหาการใช้งานข้อไหล่ในชีวิตประจำวัน ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 – 12 เดือน แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่เพื่อตัดเนื้อเยื่อพังผืดออก จากนั้นกายภาพบำบัดต่ออีกประมาณ 2 เดือน จะช่วยให้อาการปวดหายไปและสามารถกลับมาใช้งานข้อไหล่ได้ตามปกติ
  • ระยะคลายตัว : การเคลื่อนไหวของข้อไหล่เริ่มดีขึ้น ปวดสะบักน้อยลง อาการยกแขนไม่ขึ้นเริ่มทุเลา  แต่อาการปวดและตึงข้อไหล่อาจคงอยู่นาน 2 – 3 ปี ซึ่งจะก่อให้เกิดความทรมานและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

4 ท่าแก้อาหารไหล่ติด

วิธีบริหารง่าย ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดสะบัก ยกแขนไม่ขึ้น 

1. นอนราบกับพื้น ดันแขนขึ้นเหนือหัว พร้อมใช้มืออีกข้าง ช่วยดันข้อศอกขึ้นด้านบน

2. ยืนตรง ยื่นแขนไปด้านหน้า แล้วดันแขนเข้าด้านใน โดยใช้มืออีกข้างช่วยดันข้อศอกให้ชิดหน้าอก

3. นอนราบ แล้วดันแขนออกไปด้านนอก โดยใช้มือจับปลายสองข้างของอุปกรณ์คล้ายท่อ PVC ยาวประมาณ 2 ฟุต แล้วใช้มือข้างที่ปกติดันให้ไหล่ข้างที่มีปัญหากางออก ข้อศอกชิดแนบกับลำตัว 

4. ยืนตรง แล้วใช้ผ้าเช็ดตัวถูหลัง โดยใช้ฝ่ามือข้างที่เจ็บจับปลายผ้าด้านล่าง ส่วนข้างที่ปกติจับปลายด้านบน ดึงขึ้น-ลงสลับกันให้สุดปลายแขน 

บริหารอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการรักษาจะช่วยบรรเทาอาการข้อไหล่ติด ปวดสะบัก และ ยกแขนไม่ขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วขึ้น 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกและข้อ 
โทร. 0-2734 0000 ต่อ 2299

  • Readers Rating
  • Rated 3.8 stars
    3.8 / 5 (16 )
  • Your Rating