หกล้มสะโพกหัก อันตราย! ควรเรียกรถพยาบาลทันที อย่าเคลื่อนย้ายเอง
หากล้มแล้วเจ็บหรือปวดบริเวณสะโพกจนขยับไม่ไหว ลุกไม่ได้ อย่าฝืน! เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะกระดูกสะโพกหัก ซึ่งนายแพทย์เปรมเสถียร ศิริธนาพิพัฒน์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า สะโพกเป็นกระดูกส่วนที่รับน้ำหนักตัวมากที่สุด หากหกล้มสะโพกหักจะเกิดความเจ็บปวดรุนแรงจนขยับไม่ได้ ลุกไม่ขึ้น หรือขาผิดรูป อย่าพยายามดัดหรือดึงเพื่อให้กระดูกกลับเข้าที่โดยเด็ดขาด รวมถึงไม่ควรฝืนลุกยืนและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง เพราะอาจทำให้กระดูกหักเพิ่มจนไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ และเสียเลือดมากขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบายขึ้น แล้วโทรเรียกรถพยาบาลมารับทันที และควรรีบเข้ารับการผ่าตัดภายใน 12 – 24 ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุ เพื่อเพิ่มโอกาสหายจากการหกล้มสะโพกหัก ลดโอกาสนอนติดเตียง และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อีกทั้งการผ่าตัดรักษาสะโพกหักในปัจจุบันมีความปลอดภัยมากขึ้นและยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักหรือลุกยืนได้ทันทีหลังผ่าตัดเพียง 6 ชั่วโมง
คนกลุ่มใดบ้างที่มีความเสี่ยงหกล้มสะโพกหัก
สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงหกล้มสะโพกหักง่าย คือกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่ความแข็งแรงของกระดูกลดลง รวมไปถึงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ผู้ที่ขาดสารอาหารในกลุ่มวิตามินดีและแคลเซียม ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน หรือแม้แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ แพ้ภูมิตัวเอง นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่อายุน้อยก็มีโอกาสกระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุรุนแรงได้เช่นเดียวกัน เช่น ตกจากที่สูง หรืออุบัติจากรถจักรยานยนต์
“โดยมากเราจะพบผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีสาเหตุมาจากการล้ม เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในวัยที่หมดประจำเดือนและมีภาวะกระดูกพรุน ซึ่งการหกล้มสะโพกหักในกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย จากสถิติพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตภายในปีแรกสูงถึงร้อยละ 35 หากไม่ได้รับการรักษาดูแลที่เหมาะสม หรือไม่ได้รับการผ่าตัดภายใน 12 – 24 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ป่วยจะเสียเลือดมากขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อน แผลกดทับและเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด” นายแพทย์เปรมเสถียรกล่าว
การรักษาผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุหกล้มสะโพกหัก
การรักษาผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก หากหักที่บริเวณคอสะโพกจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดให้เร็วที่สุด หรือภายใน 12–24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและลดโอกาสการนอนติดเตียง สามารถลุกยืนได้ภายใน 6 – 12 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด และยังช่วยให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ รวมถึงทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการวิ่ง ว่ายน้ำ และขับรถได้ใน 1 เดือน
วีธีป้องกันความเสี่ยงกระดูกสะโพกหัก
สำหรับการลดความเสี่ยงในการเกิดสะโพกหัก ควรเริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะสารอาหารในกลุ่มวิตามินดีและแคลเซียม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน ออกกำลังกายกลางแจ้งโดนแสงแดดบ้างอย่างสม่ำเสมอ ลดละเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ส่วนบ้านที่มีผู้สูงอายุควรจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ปรับพื้นที่ทางเดินให้เหมาะสม ไม่ลื่น และเพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ เพื่อป้องกันผู้สูงอายุสะดุดหรือลื่นล้ม นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้มสะโพกหักได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ฟื้นฟูข้อเสื่อม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2222
หกล้มสะโพกหัก รักษาภายใน 24 ชม. ลดโอกาสนอนติดเตียง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิก
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating